ยินดีต้อนรับ สู่...ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่

ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ เปิดรับสั่งจองพันธุ์ไข่ไหม และกิ่งพันธุ์หม่อน


ติดต่อเรา : ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่

5 ม.ค. 2555

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ ๒๒














สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ ๒๒ เฉลิมพระเกียรติฯ (22nd Congress of the International Sericultural Commission) เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ห้องดวงตะวัน แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม ดร.คริสเตียน เฟรสเคท์ รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและข้าราชการเฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานถึงการจัดงานประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ ๒๒ เฉลิมพระเกียรติฯ ว่า คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๘ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองลีออง สาธารณรัฐฝรั่งเศสโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การประชุมวิชาการ การดำเนินการวิจัยและพัฒนาความร่วมมือด้านหม่อนไหมกับนานาประเทศ
คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ ๒๒ โดยกำหนดการประชุมระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมเซ็นทาราดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ และ พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งนับเป็น ปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา นอกจากนี้ เพื่อให้ นักวิจัย นักวิชาการ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องด้านหม่อนไหมทั้งภาครัฐและเอกชนไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับนักวิชาการและนักวิจัยจากนานาประเทศ อันจะเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมด้านไหมไทยให้เป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยและสนับสนุนการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ ๒๕๕๔
ในการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ ๒๒ เฉลิมพระเกียรติ มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกและประเทศผู้เข้าร่วมประชุมทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร รวมทั้งสิ้น ๓๐๐ คน สำหรับการประชุมมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการภาคบรรยาย จำนวน ๔๖ เรื่อง นำเสนอภาคโปสเตอร์ จำนวน ๗ เรื่อง โดยครอบคลุมเนื้อหาใน ๗ สาขา ได้แก่ ๑) เรื่องเกี่ยวกับหม่อน ๒) ไหมที่กินใบหม่อนเป็นอาหาร ๓) ไหมที่ไม่กินใบหม่อนเป็นอาหาร ๔) หม่อนไหมด้านชีววิทยา ๕) วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวของไหม ๖) เศรษฐกิจหม่อนไหม และ ๗) การแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการวิชาการหม่อนไหมของนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ผ้าไหม GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) หนองคายโมเดล ไหมเรืองแสง เป็นต้น ผ้าไหมไทย ลายโบราณ การออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมของเกษตรกรและผู้ประกอบการ อาทิ ผ้ายกดอกลำพูน ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ผ้าไหมมัดหมี่ขอนแก่น เป็นต้น
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศได้คัดเลือกผู้เข้ารับรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ โดยเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักวิจัยและบุคคลที่ทำการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์และการตลาด ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงศึกษาพัฒนา ทรงส่งเสริมสนับสนุนผ้าไหมไทยซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ยังความชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ แก่ประชาชนในประเทศและนานาประเทศเป็นอย่างยิ่ง สำหรับปีนี้คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศได้คัดเลือกนักวิจัยและนักวิชาการ จำนวน ๒ ราย ได้แก่ นายคาซุเอะอิ มิตะ ประเทศญี่ปุ่น และนายฮาดิเคเร กัลละปะ บาซาวาราจา ประเทศอินเดีย เป็นผู้ได้รับรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔

ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสใจความดังนี้

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มาเปิดการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ ๒๒ ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา และเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้าที่จะมีอายุ ๘๐ปี ในปีหน้า คนไทยมีความผูกพันกับผ้าไหมมาเป็นเวลานานนับพันปีแล้ว มีหลักฐานการพบเส้นใยไหม มาตั้งแต่สมัยบ้านเชียงซึ่งเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผ้าไหมไม่เพียงแต่เป็นเครื่องแต่งกายที่สวยงามเท่านั้น ยังเป็นสมบัติอันทรงคุณค่าทางจิตใจที่บรรพชนไทยหลายท้องถิ่นบรรจงทอให้ลูกหลานในประเพณีมงคลต่าง ๆ พร้อมทั้งสอดแทรกเรื่องราวในชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมลงในผืนผ้า ลวดลายของผ้าไหมจึงบอกเล่าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีทรงให้ความสำคัญแก่งานไหมมากถึงกับทรงตั้งกรมไหมขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ และทรงส่งพระราชโอรส คือ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมไปทรงสนับสนุนคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและ ทอผ้าไหม ผ้าไหมเป็นสิ่งทอที่งดงามที่สุดในโลก และแม้ว่ากว่าจะได้มาสักผืนหนึ่งต้องใช้เวลานานมาก แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังคงใช้ผ้าไหมอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เห็นความงามอันหลากหลายของผ้าไหม และช่วยให้ข้าพเจ้านำภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้มาเป็นรายได้เสริมอย่างยั่งยืน ให้แก่ชาวบ้านมาเกือบสี่สิบปีแล้ว โดยยังคงสืบทอดกรรมวิธีแบบเดิมไว้
ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับ ดร.คาซุเอะอิ มิตะ (Dr.Kazuei Mita) และ ดร.อาดิเคเร กัลละปะ บาซาวาราจา (Dr.Hadikere Kallappa Basavaraja) ผู้มีผลงานวิจัยหม่อนไหมดีเด่น และได้รับรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ ประจำปีนี้
ข้าพเจ้าหวังว่าการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลกจะทำให้ประเทศผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันและร่วมกันพัฒนาผ้าไหมให้เป็นสิ่งทอแห่งวัฒนธรรมที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งดำรงอยู่ในความนิยมของประชาชนตลอดไป ขอให้การประชุมวิชาการหม่อนไหมโลกครั้งนี้บรรลุ ผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์จงทุกประการ”
ด้านนายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม ได้กล่าวว่า การเสด็จฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลกในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่นักวิชาการ เกษตรกร และผู้ประกอบการ หม่อนไหมอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งกรมหม่อนไหมจะน้อมนำพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมและสนับสนุนผ้าไหมไทยอันเป็นเอกลักษณ์อันมีค่ายิ่งของชาติ ไปพัฒนาผ้าไหมให้เป็นสิ่งทอแห่งวัฒนธรรมที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสืบสานงานอนุรักษ์ไหมไทยให้ดำรงอยู่ในความนิยมของประชาชนตลอดไป



ไม่มีความคิดเห็น: