หม่อนผลสดและการแปรรูป โดย วสันต์ นุ้ยภิรมย์
ข้อมูลกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง เอกสารฉบับนี้เป็นลิขสิทธิ์ ของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ข้อมูลกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง เอกสารฉบับนี้เป็นลิขสิทธิ์ ของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
การนำข้อความบางส่วน หรือทั้งหมดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิง เอกสารด้วย คำนำ 10 กว่าปีแห่งวิกฤตการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย นับตั้งแต่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียร์เป็นต้นมาส่งผลกระทบต่อกิจการการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอย่างมากจนทำให้เกษตรกรหลาย ๆ ราย บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหม่อนไหมหลายๆบริษัท ต้องเลิกกิจการไป ส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ก็ต้องต่อสู้กับภาวะต้นทุนสูง ราคารังไหมตกต่ำ การต่อสู้กับต่างประเทศตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพียงอย่างเดียวจึงเป็นภาวะที่ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุน หม่อนรับประทานผลนับเป็น นิมิตหมายใหม่แห่งการพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากต้นหม่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหม่อนรับประทานผลเป็นผลงานจากการวิจัยของนักวิจัยสถาบันวิจัยหม่อนไหม และหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถผลิตเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรขนาดเล็ก ขนาดกลางเพื่อผลิตเป็นผลผลิตภัณฑ์จากผลหม่อนภายในครัวเรือน และการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม มีตลาดรองรับอย่างมีระบบ เนื่องจากสามารถผลิตผลหม่อนให้ได้ผลผลิตสูงเพียงพอ และกระจายผลผลิตออกไปตลอดเกือบทั้งปี หม่อนรับประทานผลนับเป็นพืชตัวใหม่เอกสารทางวิชาการยังมีปรากฎไม่มากนัก ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมเอกสารเท่าที่มีอยู่ในประเทศและจากต่างประเทศซึ่งมีการปลูกกันบ้างพอสมควร รวมทั้งผลงานการวิจัยของนักวิจัยไทยซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่ได้คลุกคลีกับหม่อนรับประทานผลมานานนับ 20 ปี และหนังสือเล่มนี้นับเป็นหนังสือเล่มแรกที่มีการตีพิมพ์เกี่ยวกับการปลูกหม่อนรับประทานผล ผู้เขียนจึงได้เรียบเรียงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งนักวิชาการและเกษตรกร สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร ตระหนักในภาระกิจที่รับผิดชอบเป็นอย่างดี ผู้เขียนในฐานะที่เป็นข้ารับใช้ของแผ่นดินและเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัยหม่อนไหม จึงได้พยายามผลิตเอกสารวิชาการฉบับนี้ขึ้นมาโดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้อ่านทั้งที่เป็นเกษตรกรและนักวิจัยรวมทั้งผู้รู้ทั้งหลาย จนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในปัจจุบันให้สามารถฟื้นตัวได้อีกครั้งหนึ่ง วสันต์ นุ้ยภิรมย์ มิถุนายน 2545 สารบัญ บทนำ คำนิยาม ลักษณะทางพฤกศาสตร์ของหม่อน การจัดหมวดหมู่ของต้นหม่อน พันธุ์หม่อน พันธุ์หม่อนที่พบอยู่ทั่วโลก พันธ์หม่อนรับประทานผลที่ปลูกในประเทศไทย พันธ์หม่อนรับประทานผลที่ปลูกในต่างประเทศ พันธุ์หม่อนเพศเมียในประเทศไทย การพัฒนาการของผลหม่อน การเลือกพื้นที่ปลูกและการเตรียมพื้นที่ การเลือกพื้นที่ การเตรียมพื้นที่ การขยายพันธุ์ วิธีการปลูก ระยะปลูก การเตรียมหลุมปลูก วิธีการปลูก การบังคับทรงต้น การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การกำจัดวัชพืช เทคนิคการบังคับให้หม่อนติดผล การบังคับให้หม่อนติดผลนอกฤดูกาล การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลหม่อน การเก็บรักษาผลหม่อน โรค แมลง และศัตรูหม่อน โรคหม่อน แมลงศัตรูหม่อน สัตว์ศัตรูหม่อน ตลาดของผลหม่อน การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลหม่อน การทำน้ำหม่อน การทำไวน์หม่อน แยมผลหม่อน แยลลี่ผลหม่อน ลูกอมผลหม่อน การใช้ประโยชน์จากผลหม่อนในด้านสมุนไพรแผนโบราณ บทสรุป บรรณานุกรม บทนำ หลายพันปีมาแล้วตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเริ่มขึ้นในประเทศจีนเป็นครั้งแรก เป็นการปลูกหม่อนสำหรับนำใบหม่อนไปใช้ในการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตรังไหมและเส้นไหมไว้ใช้ในวัตถุประสงค์ของการใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ในอดีตหม่อน (Morus spp.) เป็นพืชที่มุ่งเน้นเพื่อนำใบไปใช้เลี้ยงไหมสำหรับการผลิตเส้นไหม ในอุตสาหกรรมการทอผ้าไหมเป็นส่วนใหญ่ มีการนำส่วนต่าง ๆ ของหม่อนไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ น้อยมาก ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 ได้มุ่งเน้นให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางสินค้าเกษตรนั้น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนจึงเป็นทางเลือกอีกทางของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและคิดค้นวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนจนสำเร็จแล้ว เช่น การทำไวน์หม่อน และน้ำผลไม้จากผลหม่อน, การทำแยม , ลูกอม และการทำข้าวเกรียบจากผลหม่อน เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องใช้ผลหม่อนเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตโดยคุณค่าทางอาหารที่ได้ โดยมีหม่อนหลายพันธุ์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์และปลูกในประเทศไทยที่ให้ผลผลิตผลหม่อนค่อนข้างสูง นอกจากนั้นในต่างประเทศเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศทางแถบยุโรป มีพันธุ์หม่อนที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากผลหลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น red mulberry (M. rubra L.) , black mulberry (M. nigra L.) ซึ่งพันธุ์หม่อนเหล่านี้ได้มีการปลูกกระจายอยู่ในทวีปต่างๆ ทั่วโลก ทั้งที่มีการนำพันธุ์หม่อนไปจากประเทศจีนตามทางแห่งเส้นทางสายไหมและพันธุ์หม่อนที่เป็นพืชพันธุ์พื้นเมืองเดิมหม่อนที่ขึ้นอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีรายงายว่ามีมานานประมาณ 10,000 ปีมาแล้วเมื่อนำผลหม่อนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงกว่าการผลิตจำหน่ายเป็นผลสดหลายเท่าตัว อีกทั้งการนำผลหม่อนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเชิงพาณิชย์ ยังช่วยลดปัญหาในการตลาดของสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เน่าเสียได้ง่ายลงได้อีกทางหนึ่ง และยังเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคต การนำผลหม่อนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำไวน์แดงหม่อนเป็นการรองรับนโยบายผลิตสุราเสรีของรัฐบาลในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าไวน์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงดังจะเห็นได้จากสถิติการบริโภคไวน์ของคนไทยในปี พ.ศ.2532 มีการบริโภคไวน์ 3,280,526 ลิตร ซึ่งเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ถึง 1,483,526 ลิตร ปี พ.ศ.2538 มีการบริโภคไวน์ ถึง 7,296,734 ลิตร คิดเป็นมูลค่า 349,076,789 บาท ซึ่งเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ถึง 4,885,492 ลิตร ส่วนในปี พ.ศ.2542 มีการบริโภคไวน์ถึง 5,908,054 ลิตร คิดเป็นมูลค่า 349,076,789 บาท และในช่วงไตรมาศแรกของปี พ.ศ.2543 ได้นำเข้าไวน์แล้วถึง 1,960,054 ลิตร คิดเป็นมูลค่า 104,005,000 บาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกันในปี พ.ศ.2542 ถึงร้อยละ 32.84 หากมีการผลิตไวน์หม่อนขึ้นภายในประเทศ และสามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้ก็จะทำให้ช่วยลดมูลค่าการนำเข้าไวน์จากต่างประเทศ ได้เป็นเงินจำนวนมากเป็นการช่วยลดดุลการค้า ซึ่งจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งหากมีการผลิตไวน์แดงหม่อนได้มาตรฐานระดับสากลก็จะสามารถส่งไวน์แดงหม่อนไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะนำเงินตราเข้าสู่ประเทศ เพื่อพื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังคงตกต่ำตามนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันนี้ การแปรรูปผลหม่อนเป็นไวน์ 18 ลิตรจะต้องใช้ผลหม่อนสุกประมาณ 6 กิโลกรัม ดังนั้นหากจะต้องผลิตไวน์หม่อน 1,800,00 ลิตร จะต้องใช้ผลหม่อนจำนวน 600,000 กิโลกรัม ปัจจุบันมีโรงงานผลิตไวน์จากผลไม้ไทยชนิดต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายโรงงานแล้ว เช่น โรงงานปากช่องไวน์เนอรี่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โรงงานบอสส์ไวน์เนอรี่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และโรงงานเชียงรายไวน์เนอรี่ อ.แม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันในรูปสหกรณ์ทำการผลิตไวน์หม่อนเป็นรายเล็กๆเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ คำนิยาม หม่อนรับประทานผล หมายถึง ต้นหม่อนที่มีลักษณะเป็นเพศเมีย สามารถติดดอกออกผลได้ มีลักษณะรูปร่าง สี ของผล และมีองค์ประกอบทางเคมีภายในผลเช่นไรก็ได้ ซึ่งสามารถนำผลหม่อนมารับประทานเป็นผลสดหรือนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆได้ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหม่อน การจัดหมวดหมู่ของต้นหม่อน การจัดหมวดหมู่ของต้นหม่อนภายใต้ระบบการจัดหมวดหมู่อนุกรมวิทยาธานของพืช มีดังต่อไปนี้ Division Spermatophyta Class Angiospermae Supclass Dicotyledonae Order Urticales Family Morus Species spp. หม่อนเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Moraceae ตระกูล Morus spp. มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเขตหนาว (temperate zone) จัดเป็นไม้ผลในกลุ่ม deciduous fruit plant หรือ ประเภท hard wood คือ ใบจะร่วง ในฤดูใบไม้ร่วง และมีการพักตัวในฤดูหนาว ภาพแสดง ลักษณะกิ่งหม่อนตาดอกเป็นชนิด ตารวม (mix bud) คือมีทั้งตาใบและ ตาดอกอยู่รวมกัน มีผลแบบผลรวม ซึ่งเป็นผลที่เกิดจาก ตาข้างของปีนั้น (catkin) หมายความว่า จะมีช่อดอก เกิดที่ตาเหนือใบของตาข้างของกิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนลักษณะของดอกเป็นทั้งแบบดอกที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียแยกกันคนละต้น (dioecious) หรือบางพันธุ์อาจเป็นดอกที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน (monoecious) โดยมีดอกหลาย ๆ ดอกอยู่ในช่อเดียวกัน ในบางครั้งต้นหม่อนที่เป็นพันธุ์เดียวกันสามารถจะมีการเปลี่ยนเพศจากเพศหนึ่งไปเป็นอีกเพศได้ ส่วนการผสมเกสรต้องอาศัยลมช่วยในการผสมเกสร ช่อดอกตัวผู้ ประกอบด้วยดอกตัวผู้หลาย ๆ ดอกรวมกันเป็นช่อเดียวกัน ดอกตัวผู้แต่ละดอกจะมีกลีบดอก (sepal) 4 กลีบ และเกสรตัวผู้ 4 เกสร (stamen)ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ก้านเกสร (fliament) และอับละอองเกสร (anther) เมื่อดอกบานก้านเกสรจะยืดตัวออกและปลดปล่อยละอองเกสรที่มีลักษณะสีเหลืองออกมาเป็นจำนวนมาก มีการแพร่กระจายโดยใช้ลมเป็นตัวช่วย ดอกเดี่ยวตัวเมีย ช่อดอกตัวเมีย ผล (sorosis) 1. Stigma 2. Germinating pollen grain 3. Integument 4. Nuclellus 5. Perianth 6. Ovary cavity ช่อดอกตัวเมีย ประกอบด้วย กลีบดอก 4 กลีบ รังไข่ (ovary) ก้านเกสรตัวเมีย (style) และยอดเกสรตัวเมีย (stigma) โดยกลีบดอกจะห่อหุ้มรังไข่ไว้ซึ่งทำให้มองดูมีลักษณะคล้ายลูกบอลสีเขียว ภายใน ถุงหุ้มรังไข่ (embryo sac) จะมีไข่อ่อน (ovule) บรรจุอยู่ ก้านเกสรจะมีความยาวแตกต่างกันออกไปตามและชนิดของพันธุ์ ส่วนปลายสุดของก้านเกสรตัวเมีย เรียกว่ายอดเกสรตัวเมีย ซึ่งจะมีขนหรือปุ่มที่หนาแน่นปกคลุมอยู่บนยอกเกสรตัวเมียซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตน้ำหวานขึ้นมาสำหรับดักจับเกสรตัวผู้ เมื่อยอดเกสรตัวเมียยืดตัวออกเต็มที่และมีลักษณะสีขาวแสดงว่าดอกบานเต็มที่และเข้าสู่ระยะพร้อมที่จะได้รับการถ่ายละอองเกสรและได้รับการผสมพันธุ์แล้ว เมื่อเกสรตัวผู้ตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย จะถูกจับยึดโดยเยื่อเมือกของเกสรตัวเมียทำให้มีการพองตัวและแทงหลอดละอองเกสร (pollen tube) ลงไปสู่ถุงหุ้มรังไข่และผสมกับไข่อ่อน หลังจากผ่านกระบวนการนี้แล้วการผสมพันธุ์จึงเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เมล็ดหม่อน มีลักษณะเป็นรูปไข่ สีเหลืองอ่อน หรือเหลืองเข้ม ขนาดเล็กประมาณ 1 x 1 มม. พันธุ์หม่อน พันธุ์หม่อนที่พบอยู่ทั่วโลก พันธุ์หม่อนที่มีปลูกกันอยู่ทั่วโลกมีมากมายหลายพันธุ์ มีแหล่งกำเนิดกระจายกว้างขวางมาก คือ ตั้งแต่เขตร้อน (tropical zone) เขตอบอุ่น(subtropical zone) เขตหนาว (temperate zone) และเขตหนาวเย็น (sob-arctic zone) ส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อนำใบไปเลี้ยงไหม แต่มีอีกหลายพันธุ์ที่นำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่นการรับประทานผล การนำไปเป็นต้นไม้สำหรับบังลม (wind break) ปลูกไว้เพื่อใช้สำหรับเป็นอาหารของนก การปลูกเป็นไม้ประดับริมถนนหนทาง และบางพันธุ์ยังเป็นพืชพันธุ์ป่า (wild varities) มีการจำแนกพันธ์หม่อนระดับ species เริ่มตั้งแต่ ปี ค.ศ.1753 เมื่อ Linneaus ได้จำแนกพันธุ์หม่อน ออกเป็น 5 species ได้แก่ Morus alba L., Morus nigra L., Morus rubra L., Morus tartarica L. และ Morus indica L. จนถึงปี ค.ศ.1917 Koidzumi ได้จำแนกพันธุ์หม่อนออกเป็น 24 species และ 1 supspecies ต่อมานักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ Horita ได้จำแนกพันธุ์หม่อนออกเป็น 35 Species โดยจำแนกได้ เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 Dolichostylae (เป็นกลุ่มที่มีก้านเกสรตัวเมียยาว) ประกอบด้วย พันธุ์ต่างๆ คือ 1. Morus arabica Koidz. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศ กลุ่มอะราเบียน และโอมาน 2. Morus mizuho Hotta. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น 3. Morus mongolica Schneider. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศจีนและเกาหลี 4. Morus nigriformis Koidz. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในตอนใต้ของประเทศจีน 5. Morus notabilis Schneider มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศจีน 6. Morus bombycis Koidz. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี 7. Morus rodundiloba Koidz. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศไทย 8. Morus acidosa Griffith. มีแหล่งกำเนิดอยู่แถบภูเขาหิมาลัย ตอนใต้ของประเทศจีน ประเทศไต้หวัน และทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น 9. Morus kagayamae Koidz. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเกาะ Hachijo เกาะ Miyaki และ Aoshima 10. Morus yoshimurai Hotta. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเกาะ Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น 11. Morus cordatifolia Hotta. มีแหล่งกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น 12. Morus formosensis Hotta. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศไต้หวัน กลุ่มที่ 2 Macromorus (เป็นกลุ่มที่มีก้านเกสรตัวเมียสั้น หรือไม่มีก้านเกสร) ประกอบด้วย พันธุ์ต่างๆ คือ 1. Morus serrata Roxb. มีแหล่งกำเนิดอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย และบริเวณแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย มีจำนวน โครโมโซม 2n = 84 (hexaploid) 2. Morus nigra L. มีแหล่งกำเนิดอยู่แถบเอเซียตะวันตก คอร์เคซัสและแถบเปอร์เซีย มีจำนวน โครโมโซม 2n = 308 3. Morus tilliaefolia Makino. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในภาคใต้ของประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี มีจำนวน โครโมโซม 2n = 84 (hexaploid) 4. Morus cathayana Hemsl. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในตอนกลางของประเทศจีน มีจำนวน โครโมโซม 2n = 56 (tetraploid) 5. Morus mesozygia Stapf . มีแหล่งกำเนิดอยู่ในอัฟริกาตะวันตกและประเทศซูดาน 6. Morus laevigata Wall. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในแถบเทือกเขาหิมาลัยและภาคตะวันตกของประเทศจีน มีจำนวน โครโมโซม 2n = 56 (tetraploid) 7. Morus insignis Bureau. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ 8. Morus macoura Mig. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศมาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะชวา 9. Morus rubra L. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ 10. Morus mollis Rusby. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศเม็กซิโก 11. Morus celtidifolia Kunth. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ 12. Morus microphylla Buckl. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ 13. Morus boninensis Koidz. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเกาะ Bonin มีจำนวน โครโมโซม 2n = 56 (tetraploid) 14. Morus latifolia Poiret. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศจีน 15. Morus alba L. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศจีน มีจำนวน โครโมโซม 2n = 28 16. Morus atropurpurea Roxb. มีแหล่งกำเนิดอยู่ตอนใต้ของประเทศจีน 17. Morus viridis Hamilton. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในภาคเหนือของอินเดีย 18. Morus peruiana Planchon. มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศเปรู 19. Morus yunanensis Koidz . มีแหล่งกำเนิดอยู่ในมณฑลยูนาน ประเทศจีน 20. Morus wallichiana Koidz . มีแหล่งกำเนิดอยู่ในภาคเหนือของอินเดีย ประเทศเมียนม่าร์ และมลฑลยูนานของประเทศจีน 21. Morus wittiorums Handel . มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศไทย 22. Morus mallotifolia Koidz . มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศไทย 23. Morus miyabeana Hotta . มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเกาะ Amakura ประเทศญี่ปุ่น พันธ์หม่อนรับประทานผลที่ปลูกในประเทศไทย พันธุ์หม่อนที่ใช้ปลูกเพื่อเก็บผลผลิตผลหม่อน หรือเก็บผลผลิตใบหม่อนแล้วเก็บผลผลิตผลหม่อนเป็นผลพลอยได้ คือ 1. หม่อนรับประทานผลสายพันธุ์เชียงใหม่ พบว่ามีปลูกในภาคเหนือนานหลายสิบปีมาแล้ว ขณะนี้มีการปลูกกระจายทั่วไปทางภาคเหนือตอนบนและในหมู่บ้านชาวไทยภูเขาในเขตภูเขาสูงของภาคเหนือ ต้นหม่อนที่มีอายุปีที่ 3 ให้ผลผลิตผลหม่อน ประมาณ 600 -700 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี และเมื่อต้นหม่อนมีอายุมากขึ้นจะให้ผลผลิตผลหม่อนสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้นในช่วงฤดูฝนน่าจะให้ผลผลิตใบหม่อนไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี 2. พันธุ์บุรีรัมย์ 60 เป็นพันธ์หม่อนที่ปรับปรุงพันธุ์ โดยใช้หม่อนพื้นเมืองของไทยผสมกับหม่อนพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ คือพันธุ์ จีนเบอร์ 44 ให้ผลผลิตใบหม่อนประมาณ 3,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี และคาดว่าจะให้ผลผลิตผลหม่อนไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี 3. พันธุ์ศรีสะเกษ 33 เป็นหม่อนลูกผสมเปิดของหม่อนพันธุ์ Jing Mulberry จากประเทศจีน มีคุณลักษณะต้านทานต่อโรคใบด่างได้ดีกว่าหม่อนพันธุ์อื่น ๆ มีผลค่อนข้างใหญ่ สามารถนำผลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ดี และให้ผลผลิตใบหม่อนประมาณ ปีละ 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ 4. หม่อนป่า เป็นพันธุ์หม่อนที่ยังไม่มีการศึกษาในด้านจำแนกพันธุ์ พบว่ามีขึ้นอยู่กระจายทั่วไปทั้งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เจริญเติบโตได้ที่ในที่ที่มีความชื้นสูง ภาพแสดง ผลหม่อนพันธุ์ป่าของประเทศไทยโดยเฉพาะตามริมลำห้วยและแม่น้ำ เป็นไม่ป่าที่ยืนต้นบางต้นพบว่ามีความสูงประมาณ 50 เมตร และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 1 เมตร มีอายุมากกว่า 100 ปี มีการสลัดใบทิ้งและพักตัวในฤดูหนาวจากนั้นจะผลิตาใบและดอกจะเริ่มบานประมาณต้นเดือนมกราคม พบได้ทั้งต้นที่เป็นเพศผู้ และเพศเมีย ผลสุกในเดือนมีนาคม ถึงเมษายน ลักษณะช่อดอดทั้งเพศผู้และเพศเมียมีขนาดยาวประมาณ 6 นิ้ว ผลอ่อนมีสีเขียวและเมื่อสุกเต็มที่สีผลจะเปลี่ยนเป็นสีขาวครีม กลิ่นหอม และมีรสหวาน พันธ์หม่อนรับประทานผลที่ปลูกในต่างประเทศ 1. พันธุ์ Red Mulberry (M. rubra) เป็นพันธุ์หม่อนที่ปลูกเพื่อใช้รับประทานผลสดและแปรรูปกันอย่างแพร่หลายในทวีปอเมริกาและประเทศทางแถบยุโรป เดิมเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเป็นไม้ป่าชนิดหนึ่ง เป็นต้นไม้ชนิดผลัดใบ (deciduous) ขนาดพุ่มเล็ก ทรงพุ่มแผ่กระจายออกทางด้านข้าง ลักษณะลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน เปลือกไม้เป็นสีเข้ม เนื้อไม้สีอ่อน มีความสูงของทรงพุ่มตั้งแต่ 5-21 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของต้น 60 เซนติเมตรมีอายุยืนยาวถึง 125 ปี ในต่างประเทศจะเริ่มติดดอกในเดือน เมษายน-พฤษภาคม และผลจะเริ่มสุกเป็นสีม่วงดำในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ผลหม่อนพันธุ์นี้ใช้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กเช่นหมู และไก่ และนกหลายชนิด เมื่อนำมาปลูกเป็นพืชปลูกก็สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น ไวน์ แยม เยลลี่ ไพน์ น้ำผลหม่อน ส่วนเปลือกของต้นหม่อนชาวอเมริกันพื้นเมืองยังนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนั้นใช้ปลูกต้นหม่อนเป็นไม้ประดับตามสวนหย่อมและริมถนนอีกด้วย 2. พันธุ์ Black Persian (M. nigra) เดิมเป็นพันธุ์หม่อนที่ขึ้นอยู่ในแถบตอนเหนือของ Asia Minor, Armenea, ทางตอนใต้ของ Caucasus ไกลไปจนถึง Persia จนปัจจุบันได้กลายมาเป็นพันธุ์ที่ปลูกเพื่อรับประทานผลในแถบประเทศยุโรป อังกฤษ สวีเดนและสก็อตแลนด์ ซึ่งเชื่อกันว่าได้ถูกนำเข้าไปปลูกกันอย่างแพร่หลายโดยนักรบชาวโรมันก่อนค.ศ.1600 มีผลขนาดใหญ่ ขนาดยาวมากกว่า 1 นิ้ว น้ำในผลมีสีเข้ม รสชาดเป็นกรดปานกลาง 3. พันธุ์ Collier (M. alba X M. rubra) เป็นพันธุ์ลูกผสมที่มีขนาดผลปานกลาง ยาว 1-1/8 นิ้ว กว้าง 3/8 นิ้ว ผลสุกมีรสชาดหวาน ออกสีม่วง-ดำ มีความเปรี้ยวน้อย คุณภาพดีมาก มีระยะผลสุกยาวนาน ขนาดของทรงพุ่มปานกลาง 4. พันธุ์ Downing พันธุ์ Downing เป็นพันธุ์ซึ่งเพาะปลูกจากเมล็ด จากพันธุ์ M. alba var. multicaulis ในปี ค.ศ.1846 มีผลสีดำและมีรสชาดดีมาก ผลจะเริ่มสุกตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือน สิงหาคม 5. พันธุ์ Illinois Everbearing เกิดจากพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง M. alba X M. rubra โดยมีการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในปี ค.ศ.1958 ที่เมือง White country รัฐ อิลินอยล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลยาวและมีเมล็ดน้อย น้ำหนักผล 12 ผล ต่อ ounce มีรสชาดหวานและมีกลิ่นดีมาก ติดผลยาวนาน ลักษณะลำต้นแข็งแรงแต่ค่อนข้างเตี้ย 6. พันธุ์ Kaester (M. nigra) ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นโดย Nelson Westree รัฐ ลอสเอลเจอลิส ขึ้นในปี ค.ศ.1971 ผลมีลักษณะใหญ่และสีดำจนถึงสีม่วงเข้ม ขนาดของผลยาว 1.5 นิ้ว กว้าง 0.5 นิ้ว รสชาดหวานมาก มีอัตราส่วนของน้ำตาลและความเปรี้ยวสมดุลกันอย่างพอดี 7. พันธุ์ Pakistan มีถิ่นกำเนิด จากเมืองอิสลามาบัด ปากีสถาน ผลมีลักษณะใหญ่ สีแดงสด ความยาวของผล 2.5 – 3.5 นิ้ว เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเนื้อแน่นที่สุดในบรรดาพันธุ์หม่อนรับประทานผลที่ปลูกกันทั้งหมด มีกลิ่นและรสชาดความหวานกลมกล่อมพอดิบพอดี ทรงพุ่มแผ่กว้างมีใบเป็นลักษณะรูปหัวใจ เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นไม่มากเกินไป 8. พันธุ์ Riviera มีถิ่นกำเนิด จากเมือง Vista แคลิฟอร์เนีย ผลมีลักษณะยาวเรียวสีม่วงดำเข้ม ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว และกว้าง 0.5 นิ้ว เนื้อไม่แน่นมากผลฉ่ำแต่หวานมาก ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวนานตั้งแต่เดือน เมษายนถึงเดือน มิถุนายน 9. พันธุ์ Russian (M. tatarica) เป็นพันธุ์ที่นำมาจากประเทศจีน เข้าสู่ยุโรป เมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้วสีของผลค่อนข้างแดงดำ เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเมื่อผลสุกเต็มที่แล้ว มีทรงพุ่มสูงถึง 35 ฟุต สามารถทนทานต่อความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายเป็นประโยชน์ในการทำเป็นแนวกันลมและสำหรับใช้เป็นอาหารของสัตว์ป่า 10. พันธุ์ Shangri-la แหล่งกำเนิดอยู่ในเมือง Naples มีผลสีดำขนาดใหญ่ เป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในพื้นที่ทั่วๆไปและทางภาคใต้ของอเมริกา ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่มาก ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ 11. พันธุ์ Tehama (Giant White) แหล่งกำเนิดอยู่ในเมือง Tehama Country รัฐแคลิฟอร์เนีย ผลใหญ่มากเนื้ออวบ สีขาว ยาว 2.75 นิ้ว กว้าง 0.5 นิ้ว รสชาดหวานมาก อวบน้ำแตกง่าย ทรงพุ่มใหญ่ สามารถปลูกได้ดีและปรับตัวได้ดีในเขตที่มีความหนาวเย็นไม่มากนัก 12. พันธุ์ Wellington แหล่งกำเนิดอยู่ในเมือง Geneva รัฐนิวยอร์ค ผลนุ่มสีแดงดำ มีขนาดปานกลาง ยาว 1.25 นิ้ว กว้าง 3/8 นิ้ว ลักษณะผลยาว และกลม รสชาดดี ผลสุกเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ ต้นมีขนาดใหญ่ อาจจะเป็นพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกา อาจจะมีอายุใกล้เคียงกับพันธุ์ Downing 13. พันธุ์ Shah Tul (M. nigra) เป็นหม่อนที่มีปลูกอยู่ในแถบ หุบเขา ในแควนแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย แต่เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศ อิหร่าน ลำต้นขนาดกลางถึงใหญ่ กิ่งก้านสั้น ระยะข้อปล้องสั้น ใบหนาใหญ่ ไม่มีแฉก แต่มีขนมาก ผลมีลักษณะใหญ่และยาว สีแดงเข้ม แต่เมื่อสุกจะมีสีดำ มีรสชาดเปรี้ยว พันธุ์หม่อนเพศเมียในประเทศไทย หม่อนที่มีลักษณะการติดดอกออกผลเป็นเพศเมียจะสามารถให้ผลผลิตผลหม่อนได้ แต่อาจจะมีขนาด รูปร่าง สี กลิ่น และรดชาดที่แตกต่างกันออกไป บางพันธุ์ติดดอกออกผลมากก็จะใช้เป็นพันธุ์สำหรับผลิตผลหม่อนได้ แต่บางพันธุ์ติดดอกออกผลน้อย ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในการนำไปเป็นเชื้อพันธุกรรมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์หม่อนเพื่อผลิตผลหม่อนในอนาคต ซึ่งพอจะรวบรวมได้ดังนี้ คือ 1. คุณไพ มีโครโมโซม 2n = 28 2. แก้วใหญ่ 3. มี่ 4. แก้วสตึก มีโครโมโซม 2n = 28 5. เครือ 6. สา 7. ส้มใหญ่ 8. หางจรเข้ 9. หยวก มีโครโมโซม 2n = 28 10. ขี้ไก่ มีโครโมโซม 2n = 28 11. ส้ม 12. แก้วอุบล 13. ไผ่ 14. S 30 15. S 36 16. S 54 17. Kanwa – 2 18. จีน เบอร์ 44 19. กวางตุ้งจิงซาน 20. Batac 21. Los Banos 22. บุรีรัมย์ 60 มีโครโมโซม 2n = 28 23. บุรีรัมย์ 51 มีโครโมโซม 2n = 28 24. ศรีสะเกษ 33 25. บร. 7 มีโครโมโซม 2n = 28 26. KB 5 มีโครโมโซม 2n = 28 27. KB 6 มีโครโมโซม 2n = 28 28. J 33 29. SK 2501 30. นครราชสีมา 60 มีโครโมโซม 2n = 28 31. Tonkin 32. มอเรติ 33. มอเรตเตียโน 34. มัลติคามูเล่ 35. หม่อนรับประทานผลสายพันธุ์ วาวี 36. หม่อนรับประทานผลสายพันธุ์ บ้านหลวง 37. หม่อนรับประทานผลสายพันธุ์ ชุมพร 38. หม่อนรับประทานผลสายพันธุ์ โคราช 39. หม่อนรับประทานผลสายพันธุ์ พิกุลทอง 40. หม่อนรับประทานผลสายพันธุ์ เชียงใหม่ 41. หลุนเจียว 42. กันวา เบอร์ 2 43. Shujakuichi 44. Shimichimose 45. 905 (1) 46. 905 (2) 47. 905 (3) 48. 905 (4) 49. 905 (5) 50. กวางตุ้งจิงซาน 51. Assumbola 52. Ooshimaso 53. Kairyo nuzunijgaeshi 54. M. Australis 55. K. Local 56. Oki 57. ลุน 40 การพัฒนาการของผลหม่อน ผลหม่อนไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของ berry fruit แต่จัดอยู่ในกลุ่มของ ผลรวม (collactive fruit หรือ inflorescent fruit) ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากช่อดอกทั้งช่อรวมกันเป็นผลเดียวกันแต่สามารถมองเห็นเป็นผลเล็กๆ แยกกันอยู่บนแกนของช่อผล ผลเล็กๆเหล่านี้เรียกว่า syconus ซึ่งผลเหล่านี้อาจจะเกิดจากการผสมเกสรหรือไม่ต้องผสมเกสรก็ได้ จัดเป็นไม้ผลพวก parthenocarpic fruit หรือ seedless fruit ซึ่งเกิดจากการที่ไม่มีการถ่ายละอองเกสรทำให้รังไข่เจริญเติบโตไปเป็นผลแต่ไข่อ่อนในรังไข่ไม่เจริญไปเป็นเมล็ด โดยมีลักษณะ ขนาด คุณภาพและส่วนประกอบทางเคมีเหมือนกับผลที่มีการผสมเกสรทุกประการ การพัฒนาการของผลหม่อนเริ่มจากดอกหม่อนจะแตกออกมาพร้อมกับใบ จะบานหลังจากแตกช่อใบพร้อมช่อดอกประมาณ 8-12 วัน ดอกที่บานเต็มที่ยอดเกสรตัวเมียจะมีลักษณะสีขาวใส เมื่อได้รับการผสมเกสรจะเปลี่ยนสีเป็นสีเทาภายใน 3 วัน จากนั้นจะมีการพัฒนาการของผลโดยสีของผลจะเริ่มจากสีเขียว ขาว ชมพู แดง และสีดำ รวมระยะเวลาหลังจากดอกบานประมาณ 40-45 วันผลจะเริ่มสุกและแก่ ลักษณะผลหม่อนจะอวบน้ำและประกอบไปด้วยน้ำหวานเมื่อผลแก่เต็มที่ จากนั้นผลจะเริ่มนิ่มลงมีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้และน้ำตาลรีดิวซ์เพิ่มขึ้นถึงระยะประมาณ 56 วันหลังจากดอกบาน โดยจะมีน้ำตาลรีดิวซ์สูงถึง 65 กรัมต่อลิตรแต่ปริมาณกรดจะลดลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ที่ลักษณะของสีของผลไม่สามารถบ่งชี้ถึงลักษณะของพันธุ์ได้ เช่น พันธุ์ white mulberry จะมีสีของผลเป็นสีขาว ชมพูแดง และ สีดำ ผลจะมีความหวานมาก แต่จะมีส่วนประกอบของสารที่ให้ความเปรี้ยวปนอยู่ด้วย พันธุ์ red mulberry มีผลสีแดงเข้มไปจนถึงดำ ส่วนพันธุ์ black mulberry จะมีผลขนาดใหญ่และมีน้ำหวานอยู่มาก นอกจากนั้นผลหม่อนเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนของความหวาน (sweetness) และความเปรี้ยว (tartness) ที่สมดุลกันกล่าวได้ว่าผลหม่อนเป็นผลไม้ที่มีรสชาดดีที่สุด ซึ่งรสชาดความเปรี้ยวของผลหม่อนจัดได้ว่ามีระดับใกล้เคียงกับผลขององุ่น จากการทดสอบการชิม พบว่าผลหม่อนสุกและสุกจัดได้รับการยอมรับจากผู้ทดสอบมากที่สุด การเลือกพื้นที่ปลูกและการเตรียมพื้นที่ การเลือกพื้นที่ หม่อนเป็นพืชที่สามารถปลูกขึ้นได้ดีในดินชุดต่าง ๆ เกือบทุกชนิด แต่การปลูกหม่อนเพื่อผลิตผลหม่อนจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ หลายด้าน ดังนี้ 1. ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง หรือ ท่วมขังเป็นระยะเวลานานๆ มีการระบายน้ำดี และมีหน้าดินลึก 2. ดินไม่เป็นกรด หรือด่างมากเกินไป pH ของดินควรอยู่ในระหว่าง 6.0 – 6.5 3. สภาพพื้นดินต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีประวัติในการเกิดการระบาดโรครากเน่าของหม่อนมาก่อน หากเคยมีประวัติดังกล่าวจะต้องแก้ปัญหาโดยการปลูกโดยใช้ต้นตอที่มีความทนทานต่อโรครากเน่า 4. มีแหล่งน้ำที่สามารถให้น้ำได้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนหรือช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ที่หม่อนกำลังติดดอกออกผลและเก็บเกี่ยวผล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตผลหม่อนเป็นอย่างมาก 5. พื้นที่คมนาคมสะดวกสามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้ง่ายและขนส่งผลผลิตผลหม่อนได้สะดวก 6. ไม่อยู่ไกลจากตลาดและโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลหม่อนมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผลหม่อนป็นผลไม้ที่เสียหายได้ง่ายหากมีการขนส่งเป็นระยะทางไกลและยาวนาน การเตรียมพื้นที่ 1. พื้นที่ราบ พื้นที่ที่มีสภาพเป็นที่ราบสามารถเตรียมพื้นที่ได้โดยทำการปรับระดับของดินให้สม่ำเสมอ ขุดตอไม้เดิมออกให้หมดแล้ว เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืช กำจัดแมลงศัตรูหม่อนและโรคพืชที่สะสมอยู่ในดินให้หมดไป ไถดินให้ลึก 30 – 50 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ 2. พื้นที่ราบน้ำขัง ต้องทำการขุดดินแล้วพูนดินให้เป็นสัน เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังโคนต้น หรืออาจขุดดินให้เป็นคูน้ำข้างแนวที่จะปลูกหม่อนแล้วกลบดินบริเวญแถวหม่อนให้เป็นสันขึ้นมาสูงพ้นระดับน้ำท่วมขัง 3. พื้นที่ลาดชัน หากเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ หลังจากปรับพื้นที่และไถพรวนเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการวัดระดับความลาดชันของพื้นที่เพื่อปลูกหม่อนตามแนวระดับ โดยใช้อุปกรณ์วัดระดับที่ทำได้อย่างง่าย ๆ ที่เรียกว่า A – frame ซึ่งประกอบไปด้วย ไม้สามเหลี่ยมรูปตัว A ระยะระหว่างฐานของขา ตัว A ห่างกัน 2 เมตร มีเชือกถ่วงลูกถ่วงจากยอด ตัว A โดยวิธีการวัดระดับให้ปรับให้เชือกที่ถ่วงลูกถ่วงอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของตัวขวางของขา A - frame พอดี ก็แสดงว่าระดับระหว่าง ขาทั้ง 2 ขา ของ ตัง A เป็นระดับความสูงที่เท่ากันพอดี ทำการวัดและปักเครื่องหมายเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะได้แนวระดับของพื้นที่ที่มีความลาดชัน (ดังภาพประกอบ) นอกจากนี้หากพื้นที่ที่เตรียมไว้มีความลาดชันมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ควรใช้หญ้าแฝกปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้นหญ้าแฝก 10 เซนติเมตร และระยะระหว่างแนวหญ้าแฝกแต่ละแนวห่างกัน 8 เมตร จะช่วยลดการสูญเสียดินและน้ำในแปลงหม่อนได้อีกทางหนึ่ง และหมั่นตัดยอดหญ้าแฝกออกให้สูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร ทุก 6 เดือน โดยนำยอกหญ้าแฝกที่ตัดออกไปมาคลุมดินรอบโคนต้นหม่อนเพื่อช่วยในการป้องกันวัชพืช และช่วยลดการระเหยของน้ำอีกทั้งเมื่อหญ้าแฝกย่อยสลายก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้กับหม่อนต่อไป การขยายพันธุ์ การขยายพันธุ์หม่อนรับประทานผลสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีตามความเหมาะสมของวิธีการปลูก ดังนี้ คือ 1. การขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำลงในแปลงชำ โดยการตัดท่อนพันธุ์หม่อนที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ซึ่งสังเกตุได้จากกิ่งหม่อนเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแล้ว นำมาตัดเป็นท่อนยาวท่อนละ 15-20 เซนติเมตร นำส่วนที่อยู่ด้านโคนของท่อนพันธุ์ไปจุ่มในน้ำยาป้องกันเชื้อราที้งไว้ 10 นาที ส่วนด้านปลายของท่อนพันธุ์นำไปจุ่มในสีน้ำมันเพื่อป้องกันการระเหยน้ำทำให้ท่อนพันธุ์แห้งตายก่อนที่แตกยอดและออกราก เตรียมแปลงปลูกโดยการไถที่พรวนดินแล้วยกแปลงขนาดกว้าง 1.00 เมตร ยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ ผสมปุ๋ยคอกและแกลบเผาหรือแกลบดิบให้ดินร่วนซุย ปักชำท่อนพันธุ์หม่อนให้ห่างกันระยะ 10 X 10 เซนติเมตร ลึกลงในดินประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของท่อนพันธุ์หม่อนที่ตัดเตรียมไว้ จากนั้นนำฟางข้าวหรือหญ้าคา คลุมแปลงชำหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดและช่วยคลุมวัชพืชไม่ให้งอกเร็ว แล้วรดน้ำให้ชุ่มโดยดูแลไม่ให้แปลงชำขาดน้ำ หลังจากปักชำหม่อนได้ประมาณ 1 เดือน ทำการกำจัดวัชพืชโดยการใช้มือถอนออกจากแปลงชำหม่อนแล้วใส่ปุ๋ยยูเรีย ละลายน้ำ 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตรรดให้ทั่วแปลง หลังจากทำการกำจัดวัชพืชทุก 1 เดือนและให้ปุ๋ยยูเรีย ละลายน้ำ 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร จนกว่าอายุของท่อนพันธุ์หม่อนครบ 6 เดือน จึงสามารถขุดถอนท่อนพันธุ์หม่อนโดยวิธีการล้างรากได้ โดยนำท่อนพันธุ์ที่ขุดถอนออกมาตัดแต่งรากให้เหลือยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ตัดยอดให้เหลือยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ริดใบที่เหลือออกให้หมด พร้อมที่จะนำไปปลูกในแปลงได้ หากต้องการขนย้ายกิ่งชำหม่อนล้างรากไปไกลๆ ก็ให้มัดท่อนพันธุ์หม่อนรวมกันมัดละ 100 ต้น นำรากของท่อนพันธุ์ไปแช่ในน้ำโคลนแล้วนำมาผึ่งลมให้แห้ง ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือใบตองมัดให้แน่น ก็สามารถขนย้ายไปไกลๆ ได้ ส่วนวิธีการปลูกหม่อนโดยวิธีนี้จะต้องขุดหลุมให้ลึก 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ กลบดินแล้วจึงปลูกหม่อนโดยฝังต้นพันธุ์หม่อนให้ลึกถึงระดับโคนต้นของกิ่งใหม่ที่แตกออกมาจากท่อนปักชำจะทำให้อัตราการรอดตายสูง 2. การขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำท่อนพันธุ์หม่อนลงในถุง วิธีการนี้คล้ายกับวิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำลงในแปลงชำ แต่เป็นการปักชำหม่อนลงในถุงเพาะชำสีดำแทน โดยใช้ถุงเพาะชำสีดำขนาด 3 x 10 นิ้ว (ขนาดของถุงเพาะชำดำที่ยังไม่ได้คลี่ออก) เตรียมวัสดุเพาะโดยใช้ ดินดำ : แกลบดิบหรือแกลบเผา : ปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 3 : 3 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน กรอกดินใส่ถุงอัดให้แน่นวางเรียงกันในเรือนเพาะชำ แปลงขนาดกว้าง 1 เมตร ยาวพอประมาณกับพื้นที่ ตัดท่อนพันธุ์หม่อนที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน นำมาตัดเป็นท่อนยาวท่อนละ 15-20 เซนติเมตร นำส่วนที่อยู่ด้านโคนของท่อนพันธุ์ไปจุ่มในน้ำยาป้องกันเชื้อราทิ้งไว้ 10 นาที ส่วนด้านปลายของท่อนพันธุ์นำไปจุ่มในสีน้ำมันเพื่อป้องกันการระเหยน้ำทำให้ท่อนพันธุ์แห้งตายก่อนที่แตกยอดและออกรากเช่นเดียวกับวิธีแรก ปักท่อนพันธุ์หม่อน ลึกประมาณ 3 ใน 4 ส่วนถุงที่ใส่ดินเตรียมไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่มโดยดูแลไม่ให้ถุงเพาะชำขาดน้ำ หลังจากปักชำหม่อนได้ประมาณ 1 เดือน ทำการกำจัดวัชพืชโดยการใช้มือถอนออกจากดินในถุงเพาะชำหม่อน แล้วใส่ปุ๋ยยูเรีย ละลายน้ำ 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตรรดให้ทั่ว และทำการกำจัดวัชพืชทุก 1 เดือนแล้วรดด้วยปุ๋ยยูเรีย ละลายน้ำ 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร จนกว่าอายุของท่อนพันธุ์ในถุงเพาะชำหม่อนครบ 3 เดือน จึงสามารถนำไปปลูกโดยวิธีการดึงถุงออกก่อนปลูกได้ วิธีนี้มีข้อดีคือหม่อนที่นำไปปลูกจะไม่มีการชะงักการเจริญเติบโต เมื่อนำไปปลูกในช่วงที่มีฝนตกชุกแล้วหรือแปลงหม่อนที่สามารถให้น้ำได้ในฤดูแล้งหม่อนสามารถเจริญเติบโตได้เลย หากต้องการขนย้ายกิ่งชำหม่อนล้างรากไปไกลๆ ก็ให้งดให้น้ำหม่อนประมาณ 2-3 วันเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับต้นหม่อนก็สามารถขนย้ายไปไกลๆ ได้ โดยวิธีวางเรียงให้อยู่ในลักษณะเอียงซ้อนทับกันได้หลายหลายชั้นทำให้ประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง วิธีการขยายพันธุ์หม่อนโดยการปักชำทั้งชนิดลงถุงและชำลงแปลง ท่อนพันธุ์ที่ใช้ในการปักชำควรเป็นท่อนพันธุ์ที่มีอายุ 6-8 เดือนขึ้นไป และเมื่อตัดท่อนพันธุ์เป็นท่อนๆ แล้วควรจุ่มท่อนพันธุ์ลงในสารละลาย NAA ความเข้มข้น 1,000 ppm. นาน 35 วินาที ก่อนการปักชำ จะทำให้มีเปอร์เซ็นต์ออกรากและอัตราการรอดตายสูง 3. การขยายพันธุ์โดยวิธีการตอนกิ่ง เป็นวิธีการที่สามารถขยายพันธุ์หม่อนได้รวดเร็วและช่วยร่นระยะเวลาในการปลูกหม่อนให้เร็วยิ่งขึ้น แต่เป็นการสิ้นเปลืองท่อนพันธุ์หม่อนเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีท่อนพันธุ์หม่อนจำนวนมาก การเตรียมถุงตอนทำได้โดยนำขุยมะพร้าวแช่น้ำมาบรรจุลงในถุงพลาสติกสีใส ขนาด 2 x 4 นิ้ว (ขนาดของถุงเพาะชำดำที่ยังไม่ได้คลี่ออก) ให้แน่น ใช้เชือกฟางมัดปากถุงไว้โดยปล่อยชายเชือกให้เหลือยาวประมาณข้างละ 20 เซนติเมตร วิธีการตอน เลือกกิ่งหม่อนขนาดอายุมากกว่า 6 เดือน ให้มีความยาวของกิ่งมากกว่า 1.50 เมตร ริดใบที่โคนกิ่งที่จะตอนออกประมาณ 20 เซนติเมตร ให้ทำการควั่นกิ่งออกยาวประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้สันมีดขูดเยื่อเมือกซึ่งเป็นท่ออาหารของกิ่งหม่อนออกให้หมด ใช้มีดกรีดถุง ขุยมะพร้าวที่เตรียมไว้ตามความยาวของถุง แยกรอยกรีดออกแล้วนำมาประกบเข้ากับรอยควั้นของกิ่งหม่อนในลักษณะคว่ำรอยกรีดลง ให้รอยควั่นด้านบนอยู่ตรงกลางหรือค่อนไปทางด้านบนของถุงขุยมะพร้าว ใช้เชือกที่เหลือปลายไว้มัดกับต้นหม่อนให้แน่น จากนั้นนำเชือกฟางอีกเส้นมามัดตรงกลางของถุงให้แน่นจนถุงไม่สามารถขยับเขยื้อนไปมาได้ ทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน กิ่งหม่อนจะเริ่มแตกรากออกมาจากรอยควั่นด้านบน ในระยะนี้ต้องดูแลเรื่องถุงขุยมะพร้าวไม่ให้ขาดน้ำหากตอนกิ่งหม่อนในช่วงฤดูแล้งต้องมีการใช้หลอดฉีดยาดูดน้ำฉีดเข้าไปหล่อเลี้ยงขุยมะพร้าวไม่ให้ขาดน้ำ หลังจากตอนกิ่งครบ 45 วัน รากของกิ่งตอนเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก็สามารถตัดกิ่งตอนมาลงถุงเพาะชำได้ โดยการตัดยอดกิ่งชำให้ยาวประมาณ 1.50 เมตร จากรอยตอน ริดใบออกให้หมด ค่อยๆใช้มีดแกะเชือกและถุงพลาสติกออกจากนั้นนำลงไปชำในถุงเพาะชำดำขนาด 4 x 12 นิ้ว เตรียมวัสดุเพาะโดยใช้ ดินดำ : แกลบดิบหรือแกลบเผา : ปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 3 : 3 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน กรอกดินใส่ถุงอัดให้แน่นวางเรียงกันในเรือนเพาะชำขนาด 2 ถุงต่อแถว นำไม้ไผ่มาทำเป็นราวยึดกิ่งหม่อนไว้เพื่อป้องกันการล้มของกิ่งหม่อน ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือนก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้ 4. การขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตาบนต้นตอ วิธีการนี้นับว่าเป็นวิธีการที่จะสามารถขยายพันธุ์หม่อนรับประทานผลให้ได้ผลได้อย่างเร็วที่สุด สำหรับเกษตรกรที่ปลูกหม่อนพันธุ์อื่นๆ อยู่แล้ว โดยสามารถตัดแต่งต้นหม่อนเดิมให้มีกิ่งเหลืออยู่ 1 กิ่ง สูงมากกว่า 1.50 เมตรปักหลักไม่ไผ่แล้วมัดกิ่งหม่อนติดกับไม้ไผ่ให้ตั้งตรง ทำการติดตาหม่อนรับประทานผล โดยวิธี ตัดแปะ (Chip budding) ที่ระดับความสูง 1.50 เมตร ทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน แผลก็จะเริ่มสมานตา ตัดยอดออกให้สูงจากบริเวณรอยติดตาประมาณ 1 นิ้ว ให้รอยเฉียงลาดลงไปทางด้านหลังของรอยติดตา ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน ตาหม่อนรับประทานผลจะเริ่มผลิออกใต้แผ่นพลาสติก ให้ใช้มีดคมๆ กรีดแผ่นพลาสติกติดตาออกตามแนวยาว หลังจากรีดแผ่นพลาสติกประมาณ 2 สัปดาห์ ตรวจดูว่าตาที่ติดไว้รอดหรือไม่ หากตายไปให้ติดตาซ้ำใกล้ๆ รอยเดิม ส่วนกิ่งที่ตารอดตายให้ริดตาหม่อนพันธุ์เดิมที่แตกออกจากต้นตอออกให้หมด ส่วนตาพันธุ์ดีเมื่อสูงเกิน 6 นิ้วให้เด็ดยอดทิ้ง ก็จะแตกยอดใหม่ออกมา 2-3 ยอด เมื่อยอดใหม่สูงเกิน 6 นิ้วก็ให้เด็ดยอดออกอีกครั้ง เพื่อให้หม่อนพันธุ์ใหม่มีจำนวนกิ่งต่อพุ่มมากในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากที่หม่อนเริ่มแตกยอดออกมาประมาณ 10 กิ่งก็สามารถปล่อยให้มีการเจริญเติบโตตามปกติ วิธีการนี้หากมีการติดตาในต้นฤดูฝนก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตผลหม่อนได้ในปีที่มีการติดตาเลย ระยะปลูก ปัจจุบันยังไม่มีผลการทดลองที่จะแนะนำลงไปได้ว่า ระยะปลูกเท่าใดที่ให้ผลผลิตหม่อนสูงสุด ในขั้นต้นจึงขอแนะนำระยะปลูกเป็น 2 แบบ คือ 1. ปลูกแบบระยะชิด คือ ระยะ 2.00 x 2.00 เมตร ต้องใช้จำนวนต้น 400 ต้นต่อไร่ 2. ปลูกแบบระยะห่าง คือ ระยะ 4 .00 x 4.00 เมตร ต้องใช้จำนวนต้น 100 ต้นต่อไร่ การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมลึก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วย ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10 กิโลกรัมต่อหลุม ใส่ปูนโดโลไม้ท์หรือปูนขาวอัตรา 1 กิโลกรัมต่อหลุม และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 250 กรัมต่อหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วกลบหลุมด้วยหน้าดินให้พูนขึ้นเล็กน้อย วิธีการปลูก ขุดหลุมบนหลุมที่เตรียมไว้ให้ลึกพอประมาณแล้วนำต้นหม่อนที่เตรียมไว้ด้วยวิธีการต่างๆ ลงปลูกกลบดินให้แน่น หากเป็นต้นหม่อนชนิดที่ตอนกิ่งสูง 1.50 เมตร ให้ใช้ไม้ไผ่ปักเป็นหลักยึดไว้ให้แน่นเพื่อป้องกันการโค่นล้มเมื่อเกิดพายุลมแรง การบังคับทรงต้น (training) สำหรับหม่อนที่ปลูกจากกิ่งชำชนิดล้างราก ชนิดชำถุง และปลูกท่อนกิ่งปักชำลงแปลงเลย หลังจาปลูกแล้วเมื่อต้นหม่อนเจริญเติบโตไปได้ระยะหนึ่งจะต้องบังคับทรงพุ่ม โดยตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียงยอดเดียวปล่อยให้หม่อนเจริญเติบโตจนมีความสูง 1.50 เมตร จากพื้นดิน แล้วทำการตัดยอดให้ หม่อนเริ่มแตกทรงพุ่มในระดับ ความสูง 1.50 เมตร เพื่อให้ด้านล่างโปร่งง่ายต่อการปฏิบัติดูแลรักษาด้านเขตกรรม ต่างๆ เช่นการกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การพรวนดิน การตัดแต่งกิ่งและการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น ส่วนกิ่งแขนงต่างๆ ที่แตกออกจากลำต้นหลักให้ริดทิ้งออกให้หมด เมื่อหม่อนแตกยอดใหม่ สูง 6 นิ้ว ให้เด็ดยอดเพื่อบังคับให้หม่อนแตกพุ่มเร็วขึ้นและเมื่อแตกยอดใหม่อีก 6 นิ้วก็ให้เด็ดยอดออกอีกครั้ง อนึ่งสำหรับหม่อนที่ปลูกในปีแรก ๆ ลำต้นและระบบรากยังเจริญเติบโตไม่มากนัก อาจจะหักล้มได้ง่ายดั้งนั้นจะต้องทำการยึดลำต้นไว้ด้วยไม้ หรือไม้ไผ่ให้หนาแน่น การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย เนื่องจากหม่อนเป็นพืชยืนต้นมีอายุยาวนานและติดดอกออกผลนานหลายสิบปี การบำรุงรักษาโดยวิธีการใส่ปุ๋ยบำรุงดินจึงมีความจำเป็นยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของหม่อนทั้งทางตรงและทางอ้อมเพราะนอกจากจะเป็นแหล่งคร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์ สำหรับการเจริญเติบโตของพืชโดยตรงแล้ว ยังมีผลต่อขบวนการทางกายภาพ เคมี และชีวะเคมีของดิน ทำให้ดินมีลักษณะโครงสร้างที่ดี และมีกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในดิน ซึ่งมีผลทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของต้นหม่อน ดังนั้นก่อนการปลูกหม่อนขอแนะนำให้นำตัวอย่างดินในแปลงไปตรวจวิเคราะห์หาคุณสมบัติของดิน เพื่อจะได้ทราบว่าดินที่จะใช้ปลูกหม่อนขาดธาตุอาหารใดบ้าง ในปริมาณที่เท่าใด หรือมีธาตุอาหารอื่นใดเพียงพอแล้ว จะได้ไม่ต้องให้เพิ่มลงไปให้เกินความจำเป็นเพื่อเป็นการประหยัดและต้นทุนการผลิต ก่อนการปลูกหม่อนให้ใส่ปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ตามความจำเป็นจากการวิเคราะห์ความต้องการปูนขาวของดินเพิ่ม และใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักในอัตรา 1,000 - 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15 -15 -15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่รองก้นหลุม จากนั้นจึงใช้หน้าดินกลบหลุม ก่อนปลูก และเมื่อเข้าสู่ปลายฤดูฝนให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15 -15 -15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รอบๆทรงพุ่มของต้นหม่อนอีกครั้ง หลังจากปีที่ 2 เป็นต้นไป การใส่ปุ๋ยหม่อนเพื่อผลิตผลหม่อนขอแนะนำอัตราการใส่ปุ๋ยดังนี้ คือ ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยในช่วงต้นฤดูฝน โดยใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1,000 - 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15 -15 -15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยในช่วงต้นฤดูหนาวก่อนทำการบังคับทรงพุ่ม ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13 - 13 - 21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความหวานโดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0 - 0 - 60 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ ในระยะที่ผลหม่อนเริ่มจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดง การให้น้ำ การให้น้ำหม่อนเพื่อเก็บผลสดมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้น้ำหม่อนในระยะที่หม่อนติดผลเรียบร้อยแล้ว หากต้นหม่อนขาดน้ำในระยะนี้จะทำให้ผลหม่อนฝ่อก่อนที่จะสุก หรือทำให้ผลหม่อนมีขนาดเล็กกว่าปรกติ ส่วนการให้น้ำในระยะอื่นๆ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมเมื่อฝนทิ้งช่วงอาจจะต้องให้น้ำเป็นบางครั้ง วิธีการให้น้ำมีหลายวิธี คือ 1. การให้น้ำแบบ มินิสปริงเกอร์ เป็นวิธีการให้น้ำแบบประหยัดทั้งแรงงานและน้ำ แต่ต้นทุนในการจัดทำระบบน้ำค่อนข้างสูง สามารถให้น้ำได้บ่อยตามความจำเป็น 2. การให้น้ำแบบ รดโคนต้น โดยใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าสู่แปลงหม่อนโดยตรง รดน้ำตรงบริเวณโคนต้นให้ชุ่ม 10 วันครั้ง การกำจัดวัชพืช ปัญหาสำคัญอีกอย่างในการปลูกหม่อนรับประทานผล ก็คือวัชพืชในแปลงหม่อนซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผลผลิตผลหม่อน โดยอาจทำให้หม่อนมีผลผลิตลดลงหรืออาจเป็นแหล่งของการหลบซ่อนหรือแหล่งอาหารของแมลงศัตรูหม่อน จากการสำรวจพบว่าวัชพืชที่สำคัญในแปลงหม่อนได้แก่ หญ้าตีนกา (Eleusine indica L.) หญ้าตีนติด (Brachiaria reptans L.) หญ้าปากควาย (Dactyloctenium aegyptium L.) หญ้าไทร (Leersia hexandra L.) หญ้าดอกขาว (Richardia brazilliensis Gomez) หอมห่อป่า (Lindernia ciliata Pannell) หญ้าขน (Brachina mutica L.) หญ้ายาว (Euphorbia geniculate Orteg.) หญ้าชันอากาศ (Panicum repens) ผักเบี้ยหิน (Trianthema portulacstrum L.)หญ้ารังนก (Chloris barbata SW.) หญ้าข้าวนก (Echinochloa crusgalli L.) หญ้าแพรก (Cynodon dactylon L.) แห้วหมู (Cyperus rotundus L.) ตีนตุ๊กแก (Tridax procumbens L.) ผักเบี้ยใหญ่ (Portulaca oleracea L.) หญ้าแดง (Ischaemum bartatum Rotz) ผักโขมหิน (Boechavia diffusa L.) น้ำนมราชสีห์ (Euphorbia hirta L.) สาบเสือ (Eupatorium edoratum L.) ผักโขม (Amaranthus viridis L.) สาบแร้งสาบกา (Ageratum conyzoides L.) และกก (Cyperus spp.) เป็นต้น การกำจัดวัชพืชอาจกระทำได้หลายวิธีดังนี้ คือ 1. ใช้แรงงานคน เป็นวิธีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม อาจกำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานคนในการดายหญ้า ให้ทำการดายหญ้ารอบบริเวณโคนต้น รัศมี 1 เมตร ทุก 2 เดือน หรือเมื่อเห็นว่าวัชพืชเกิดขึ้นหนาแน่นพอสมควรแล้ว นอกจากนั้น ควรดายหญ้าหรือหวดหญ้าทิ้งบริเวณพื้นที่ทั้งหมดของแปลงอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ในครั้งแรกควรทำในช่วงกลางฤดูฝน และครั้งที่ 2 ในช่วงหลังจากที่หมดฤดูฝนแล้ว 2. วิธีใช้เครื่องทุ่นแรง การปลูกหม่อนรับประทานผลในระยะ 2.00 x 2.00 เมตร หรือ 4.00 x 4.00 เมตร สามารถใช้รถไถเดินตาม หรือรถแทรกเตอร์เข้าไปไถพรวนในช่องกลางของแถวต้นหม่อนเพื่อกำจัดวัชพืชได้ วิธีการนี้จะช่วยประหยัดแรงงานได้เป็นอย่างดี และยังช่วยทำให้สภาพของดินโปร่งและร่วนซุยมากขึ้นด้วย ส่วนระยะเวลาในการกำจัดวัชพืชโดยวิธีนี้ ควรไถพรวนปีละ 3 ครั้ง คือ ในช่วง ต้นฤดูฝน กลางฤดูฝน และหลังจากที่หมดฤดูฝนแล้ว ส่วนบริเวณโคนต้นหม่อนคงต้องใช้วิธีการดายหญ้าด้วยแรงงานคน 3. การกำจัดวัชพืชด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช เป็นวิธีการที่สะดวกรวดเร็ว และควบคุมวัชพืชได้เป็นระยะเวลาที่นาน แต่เป็นวิธีการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้มากที่สุด หากสามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงไปใช้วิธีการอื่น แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากปัญหาของแรงงานก็ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งสารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดวัชพืชมีหลายชนิดแต่ขอแนะนำให้ใช้สารกำจัดวัชพืชดังนี้ คือ ใช้สารกลูโฟสิเนท ผสมกับไดยูรอน อัตรา 240 และ 240 กรัมของสารออกฤทธิ์ ฉีดพ่นวัชพืช 1 ไร่ จะสามารถกำจัดวัชพืชหลังงอก (post-emergence) และควบคุมวัชพืชก่อนงอก (pre-emergence) ได้เป็นอย่างดี นาน 3-4 เดือน นอกจากนั้นยังใช้ สารพาราควอท อัตรา 160 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ และสารไกรโฟเสท อัตรา 320 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ฉีดพ่นวัชพืชในแปลงหม่อนก็สามารถควบคุมวัชพืชได้นาน 3 เดือน 4. การกำจัดวัชพืชโดยวิธีการใช้วัชพืชที่มีสารป้องกันวัชพืชคลุมดินในแปลงหม่อน โดยใช้วัชพืชคือ สาบเสือหรือกระเพราป่า ตัดมาคลุมบนพื้นดินรอบๆโคนต้นหม่อนในอัตรา ไม่ต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัมสดต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร จะทำให้สามารถควบคุมวัชพืชในแปลงหม่อนได้นาน 60 วัน อีกทั้งเมื่อวัชพืชเหล่านี้สะลายตัวจะมีประโยชน์ในการเป็นปุ๋ยบำรุงดินให้กับหม่อนอีกทางหนึ่งด้วย 5. ควบคุมวัชพืชโดยใช้เศษวัสดุต่างๆ อันได้แก่ เปลือกถั่ว ฟางข้าว ชานอ้อย หรือวัสดุอื่นใดที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น แล้วนำมาคลุมดินบริเวณโคนต้นหม่อนให้ห่างจากต้นหม่อนในรัศมีรอบโคนต้น 1 เมตร จะช่วยควบคุมไม่ให้วัชพืชเกิดขึ้นบริเวณโคนต้นหม่อนได้ การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาทรงพุ่ม การตัดแต่งกิ่งให้ตัดแต่งกิ่งแบบไม้ผล ตัดเฉพาะกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ และเป็นโรคทิ้ง กิ่งที่เกิดขึ้นภายในบริเวณทรงพุ่มให้ตัดแต่งออกไปให้หมดเพื่อให้ทรงพุ่มเกิดความโปร่งทำให้ไม่เป็นปัญหาในการสะสมโรคและแมลง เทคนิคการบังคับให้หม่อนติดผล การบังคับให้หม่อนติดผลนอกฤดูกาล ปรกติโดยทั่วไปเมื่อต้นหม่อนมีการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นไประยะหนึ่งแล้วก็จะมีการออกดอกติดผล ซึ่งการออกดอกติดผลของหม่อนจะเริ่มมีการแทงช่อดอก ในช่วงต้นฤดูหนาว ประมาณต้นเดือนมกราคม จากนั้นก็จะเริ่มสุกในช่วงต้นเดือนมีนาคม จนถึงเดือนเมษายน ปริมาณผลหม่อนที่ได้จะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ ขนาดและอายุของต้น นอกจากนั้นหม่อนยังมีการแท่งช่อดอกในปริมาณที่เล็กน้อยเมื่อมีการตัดแต่งกิ่งหม่อนในแต่ละครั้งที่มีการตัดกลาง ตัดแขนง ในช่วงกลางปี ปัจจัยในการออกดอกของหม่อน 1. การสะสมความเย็นในระยะการเจริญเติบโตของพืช ทำให้มีผลต่อสรีระวิทยาของพืชเพื่อกระตุ้นการออกดอก หม่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนของฮอร์โมนพืชภายในลำต้นหม่อนเพื่อกระตุ้นให้มีการติดดอกออกผล 2. ผลกระทบของช่วงระยะเวลาของแสงที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้มีผลต่อสรีระวิทยาของพืชเพื่อกระตุ้นการออกดอก 3. ความอุดมสมบูรณ์ของต้นหม่อน เป็นการสะสมสารอาหารต่าง ๆ ภายในลำต้นของหม่อนซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อให้ผ่านระยะเวลาการเจริญเติบโตทางลำต้น (vegetative growth) เข้าสู่ระยะของการติดดอกออกผล (reproductive growth) การเก็บเกี่ยวผลผลิตผลหม่อนโดยวิธีการธรรมชาติและจากผลพลอยได้จากการตัดแต่งกิ่งหม่อนแต่ละครั้งจึงยังให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการแปรรูปผลหม่อนด้านต่าง ๆ ดังนั้นการใช้วิธีการบังคับต้นหม่อนด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตผลหม่อนในปริมาณที่มาก และตามระยะเวลาที่ต้องการ จึงเป็นวิธีการที่น่าจะทำให้การผลิตผลหม่อนออกมาคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการศึกษาในเรื่องการบังคับการติดดอกออกผลของหม่อนกันน้อยมากแต่ขณะนี้กำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นการศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง การบังคับการออกดอกของหม่อนมีวิธีการดังนี้ คือ 1. การโน้มกิ่ง - เด็ดยอด - ริดใบ ในลักษณะการโน้มกิ่งแบบโค้งยอดเข้าหาพื้นดิน วิธีการนี้เหมาะสำหรับการปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 แบบเดิม ที่มีระยะปลูก 0.75 x 2.00 -3.00 เมตร วิธีการบังคับจะทำการตัดต่ำหม่อนตามปกติ ในช่วงต้นฤดูฝนปล่อยให้หม่อนเจริญเติบโตทางลำต้นไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ในช่วงนี้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตใบหม่อนได้ตามปรกติโดยวิธีการเก็บใบ แต่ต้องระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนต่อตาข้างของหม่อน และเมื่ออายุกิ่งหม่อนครบ 6 เดือน ก็เริ่มทำการริดใบหม่อนที่เหลือออกให้หมด จากนั้นจึงโน้มกิ่งเข้าหากันลักษณะแถวต่อแถว โดยใช้เชือกฟางผูกติดกิ่งหม่อนแถวหนึ่งเข้ากับอีกแถวหนึ่ง ทำให้มองดูเหมือนอุโมงค์ ซึ่งทำให้ความสูงของอุโมงค์สูงประมาณ 1.50 เมตรจากพื้นดิน ทำการตัดยอดกิ่งหม่อนออกให้หมดทุกกิ่งโดยการตัดไม่ให้ล้ำยื่นออกไปจากแนวแถวหม่อนเดิม เพื่อไม่ให้กีดขวางการปฏิบัติงานระหว่างแถวหม่อน หลังจากบังคับทรงพุ่มแล้วปล่อยให้หม่อนเจริญเติบโตตามปรกติ ซึ่งหม่อนจะมีการแตกตาข้างออกมาเกือบทุกตาพร้อมกับมีการแทงช่อดอกออกมาตามบริเวณที่แตกยอดออกมาใหม่ ตาดอกจะเริ่มทะยอยบาน ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดตาดอก ซึ่งมีประมาณ 3-6 ตาต่อยอดใหม่ที่แตกออกมา ในลักษณะเช่นนี้หม่อน 1 ต้นจะให้ผลผลิตผลหม่อนประมาณ 400 – 500 ผล และให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 300-400 กิโลกรัมสำหรับหม่อนพันธุ์ บุรีรัมย์ 60 โดยมีระยะเก็บเกี่ยวหลังจากดอกบานประมาณ 60 - 90 วัน วิธีการเช่นนี้สามารถแบ่งแปลงหม่อนเพื่อทะยอยบังคับทรงพุ่ม เพื่อขยายระยะเวลาการให้ผลผลิตผลหม่อนได้ยาวนานขึ้น โดยสามารถโน้มกิ่งหม่อนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน 7 เดือน 8 เดือน และ 9 เดือน ก็จะมีผลผลิตผลหม่อนตั้งแต่ เดือนธันวาคม จนถึง เดือนเมษายน ของแต่ละปี แต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีด้วย หากมีปริมาณน้ำฝนมาก ควรยึดระยะเวลาในการโน้มกิ่งให้ช้าลง 2. การโน้มกิ่งหม่อนที่ปลูกแบบทรงพุ่ม เป็นวิธีการบังคับทรงพุ่มหม่อนที่ปลูกแบบไม้ผลที่มีระยะปลูก ประมาณ 2 x 2 หรือ 4 x 4 เมตร ขึ้นไป เป็นการปลูกแบบไม่มีการตัดแต่งกิ่ง แต่ทำการบังคับให้ทรงพุ่มสูงจากพื้นดิน 1.50 เมตร เมื่อหม่อนแตกกิ่งกระโดงใหม่ขึ้นมาในแต่ละปี ก็จะทำการโน้มกิ่งให้ปลายยอดขนานกับพื้นดิน และก่อนจะโน้มกิ่งจะต้องริดใบหม่อนออกให้หมดก่อนพร้อมทั้งตัดยอดส่วนที่เป็นกิ่งสีเขียวออกยาวประมาณ 30 เซนติเมตรออกก่อน วิธีการโน้มกิ่งสามารถกระทำได้หลายวิธี คือ 2.1 โดยใช้ลวด หรือเชือกผูกโยงติดไว้กับกิ่งที่อยู่ข้างล่าง หรือพื้นดินโดยใช้หลักไม้ไผ่ปักไว้บนพื้นดินสำหรับยึดเชือกหรือลวดไว้ 2.2 ใช้ไม้ไผ่ล้อมเป็นคอกไว้สูงจากพื้นดิน ประมาณ 1.50 เมตรแล้วโน้มกิ่งออกมาใช้เชือกผูกมัดติดไว้กับคอกที่ล้อมไว้ 2.3 ทำราวเส้นลวดขึงขนานในระหว่างแถวของต้นหม่อนแล้วโน้มกิ่งให้ขนาน กับพื้นดิน จากนั้นนำกิ่งหม่อนที่ตัดยอด ริดใบออกแล้วมามัดตัดไว้กับราวเส้นลวด วิธีการสามารถเก็บเส้นลวดไว้ใช้งานได้นานหลายปี ส่วนระยะเวลาของการโน้มกิ่งจะอยู่ในช่วง เดือน กันยายน - เดือนมกราคม ในปีถัดไป แล้วแต่ว่าจะเลือกให้หม่อนติดดอกออกผลในช่วงระยะเวลาไหน ซึ่งโดยปกติจะสามารถเก็บเกี่ยวผลหม่อนได้หลังจากทำการโน้มกิ่งประมาณ 60 วัน และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลหม่อน ประมาณ 30 วัน อนึ่งสำหรับหม่อนที่ปลูกในสภาพพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็นมากกาลเก็บเกี่ยวและการติดดอกออกผลจะช้าออกไปประมาณ 1 เดือนตามขนาดของความหนาวเย็น การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลหม่อน การเก็บเกี่ยวผลนับเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกิจกรรมภายในสวนก่อนนำเข้าสู่กระบวนการการเก็บรักษาผล การขนส่ง และการตลาด เนื่องจากผลหม่อนมีขนาดผลเล็กและมีระยะเวลาสุกของผลไม่พร้อมกันหมดทั้งต้นแต่เป็นการทะยอยสุกและจะต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นระยะเวลานานเป็นเดือน อีกทั้งผลหม่อนเป็นผลไม้ที่มีความบอบช้ำได้ง่าย ดังนั้นวิธีการเก็บเกี่ยวผลหม่อนจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง จึงขอแนะนำวิธีการเก็บเกี่ยว ดังนี้ 1. การเก็บเกี่ยวผลเพื่อรับประทานผลสด เมื่อผลหม่อนเริ่มเปลี่ยนสีจากสีแดงเป็นสีแดงดำหรือสีดำ ก็เก็บผลได้โดยการใช้มือเก็บทีละลูกเนื่องจากผลหม่อนสุกไม่พร้อมกัน หากปล่อยทิ้งไว้จนผลเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำผลจะร่วงลงสู่พื้นดินทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย หลังจากเก็บผลหม่อนมาแล้วนำมาบรรจุในกล่องกระดาษโดยเรียงเป็นชั้น ๆ ไม่เกิน 2 ชั้น ทำการปิดกล่องเพื่อรอการขนส่งและจำหน่ายต่อไป หากไม่สามารถขนส่งได้ทันทีควรเก็บไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส 2. การเก็บเกี่ยวเพื่อการแปรรูป หากต้องการนำไปทำน้ำผลหม่อนที่มีสีแดงก็เลือกเก็บเกี่ยวในระยะผลแดง แต่หากต้องการให้น้ำผลไม้มีสีคล้ำก็เก็บผลในระยะสีดำ สามารถนำผลหม่อนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทันที หากไม่สามารถแปรรูปได้ทันที ควรเก็บรักษาไว้โดยบรรจุในถุงพลาสติก หรือ ตะกร้าผลไม้ ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ –14 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 6 เดือน การเก็บรักษาผลหม่อน หม่อนรับประทานผล ผลิตผลหม่อนออกมาในฤดูกาลเป็นระยะเวลาสั้น คือประมาณ 30-40 วันเท่านั้น ทำให้การนำผลหม่อนไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ จำต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้ผลหม่อนที่สุกเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการเก็บรักษาผลหม่อนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นระยะเวลานานมากขึ้นจึงมีความจำเป็นยิ่ง แต่การเก็บรักษาผลหม่อนนั้นแตกต่างกันไปตามแต่วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์ คือ 1. การเก็บรักษาเพื่อการรับประทานผลสด ควรเก็บผลหม่อนจากต้นในระยะที่มีผลสีแดงเข้มแล้วนำมาใส่ภาชนะที่โปร่งวางซ้อนกันไม่สูงมากนัก จะสามารถเก็บรักษาผลหม่อนได้เป็นระยะเวลา 2-3 วัน โดยที่คุณภาพของผลหม่อนยังคงเดิม คือมีรสชาดหวานอมเปรี้ยว ซึ่งจะมีความหวานประมาณ 8 - 10 °Brix. และมีปริมาณกรด 1.7 – 2.0 % W/V. มีสีสันแดงอมม่วงหรือดำ หากเก็บรักษาไว้นานกว่านี้จะทำให้ผลหม่อนมีปริมาณกรดน้อยลง และเปลี่ยนสีเป็นสีดำทำให้ไม่น่ารับประทานสด 2. หากไม่สามารถแปรรูปได้ทันที ควรเก็บรักษาไว้โดยบรรจุในถุงพลาสติกขนาดบรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม หรือ บรรจุลงในตะกร้าผลไม้ แล้วนำไปเก็บไว้ที่ห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ –14 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6 เดือน โรค แมลง และศัตรูหม่อน โรคหม่อน โรครากเน่า (Root rot) เป็นโรคร้ายแรงที่สำคัญที่สุด ทำความเสียหายให้แก่ต้นหม่อนทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยเฉพาะระยะที่หม่อนเจริญเติบโตเต็มที่แล้วและอยู่ในระยะที่ให้ผลผลิตผลหม่อน จะทำให้เกิดความเสียหายไปทั้งต้นหรือทั้งแปลงหม่อน สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากเชื้อชนิดใด หรือสาเหตุอื่นใด สาเหตุอาการของโรค ระยะแรกใบจะเหี่ยวคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาใบและกิ่งจะเหี่ยวจากส่วนยอด ใบแห้งและร่วมหล่นไปเมื่อขุดดูจะพบว่ารากเน่าเปื่อย เป็นสีน้ำตาลปนดำ เปลือกรากและเปลือกบริเวณโคนต้นที่เชื้อเข้าทำลาย จะเปื่อยหลุดออกโดยง่าย และมีกลิ่นเหม็น วิธีป้องกันกำจัด 1. ขุดต้นที่เป็นโรครากเน่าและเศษรากออกให้หมด แล้วเผาทำลาย 2. 3. การตัดแต่งกิ่งควรใช้กรรไกรตัดกิ่ง ไม่ควรใช้มีด เพื่อหลีกเลี่ยงการกระเทือนต่อระบบราก 4. ใช้พันธุ์หม่อนทนทาน เช่น ไผ่หรือคุณไพ เป็นต้นตอ และติดตาด้วยพันธุ์หม่อนที่ให้ผลผลิต ผลหม่อนสูง เช่นสายพันธุ์เชียงใหม่ หรือบุรีรัมย์ 60 โรคราแป้ง (Powdery mildew) เชื้อราสาเหตุที่พบ Phylactinia corylea (pers) Karst การระบาด ลมพัดพาไป ไรแดงและแมลงอื่น ๆ นำไป มักจะระบาดมากในเวลาที่มีอากาศชื้นจัด แต่ไม่มีฝนตก ภาพแสดง โรคราราแป้งหม่อนลักษณะอาการ โรคราแป้งมองเห็นชัดด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นขุยสีขาวอมน้ำตาลอ่อน ๆ เคลือบอยู่ตามผิวใต้ใบมีราขึ้น เป็นผงสีขาวคล้ายแป้ง บางครั้งจะพบสีขาวขึ้นบนใบด้วย ต่อมาจะมีจุดเล็ก ๆ สีเหลือง แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และสีดำในที่สุด มักจะเป็นกับใบแก่มากกว่าใบอ่อน ใบที่เป็นโรคจะค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลือง แห้ง กรอบ และใบหม่อนที่เป็นโรคจะร่วงหล่น ทำให้การ สังเคราะห์แสงและการสะสมธาตุอาหารในต้นหม่อน ลดลง มักพบในสวนหม่อนตลอดปี และมีเกิดทั่วไป ทุกแห่ง โดยมากจะพบไรแดงตามใบที่เป็นโรไรแดงชอบ ดูดน้ำเลี้ยงตามท้องใบของหม่อน ถ้าอากาศแห้ง ไรแดง ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โรคใบด่าง (Mosaic disease) สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส ภาพแสดง โรคไวรัสในใบหม่อนลักษณะอาการ ใบมักจะบิดเบี้ยวม้วนลงเป็นรูปถ้วย หรือเป็นใบเฟิร์น บริเวณแผ่นใบเหลืองซีดใบด่างเหลืองเข้ม ต้นที่ถูกทำลายจะแคระแกรน ไม่ค่อยแตกกิ่ง ขนาดใบเล็กกว่า ปกติ มักพบในช่วงฤดูแล้ง อาการของโรคจะรุนแรงมากกว่า ฤดูหนาว วิธีป้องกันกำจัด 1. ถอนและแยกต้น ที่แสดงอาการของโรคใบด่าง ทำลาย 2. การเลือกพันธุ์ปลูกใหม่ควรเลือกกิ่งพันธุ์ที่มาจากแหล่งที่ปลอดจากโรคนี้ โรคใบไหม้หรือกิ่งไหม้ (Bacterial blight) ภาพแสดง โรคแบคทีเรียลไบลท์สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas syringae pv. mori ลักษณะอาการ จะเกิดบริเวณใบและกิ่งใบ ที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะเป็นจุดสีเทาเล็กๆ ฉ่ำน้ำ จุดนี้จะขยายลุกลามกลายเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล ลักษณะของแผลจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดแตกต่างกันไป อาจมีการระบาดรุนแรง แผลบนใบจะขยายติดต่อกัน ทำให้ใบเหลืองแห้ง ร่วงหล่นในที่สุด ถ้าโรคเกิดบนกิ่ง จะมีลักษณะเป็นแผลสีน้ำตาลปนดำ เมื่อมี อาการรุนแรงจะถูกลมพัดกิ่งที่เป็นโรคจะหักง่าย การระบาด พบมากในฤดูฝน เมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป การป้องกันกำจัด 1. รวบรวมใบและกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลาย 2. พ่นด้วยยา Bordeaux mixture ป้องกันเมื่อสังเกตุเห็นอาการเริ่มต้นของโรค โรคราสนิม (mulberry red rust) สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Aecidium mori (Barel) Syd. Et Butler ลักษณะอาการ ด้านใต้ใบจะมีลักษณะเป็นจุดนูน สีน้ำตาลคล้ายสนิมเหล็ก บางพื้นที่จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน แต่ในบางพื้นที่ จะพบเป็นสีน้ำตาลเข้ม เมื่อระบาดรุนแรง ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงหล่นไป พบระบาดรุนแรงในช่วงปลายฤดูฝนเมื่ออุณหภูมิของอากาศลดลงต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 พบว่ามีการระบาดมากในบางท้องที่ วิธีป้องกันกำจัด ภาพแสดง โรคราสนิมในพื้นที่ที่มีโรคนี้ระบาดอย่างรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการใช้พันธุ์หม่อนบุรีรัมย์ 60 ควรตัดแต่งกิ่งหม่อนให้โปร่ง เพื่อให้ได้รับแสงแดด และมีการถ่ายเทอากาศดี จะช่วยลดการระบาดของโรคนี้ ได้ ก่อนจะเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงประมาณเดือนกันยายน ควรฉีดพ่นสารป้องกันเชื้อรา ไดโนแคป (dinocap) หรือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) เข้มข้น 0.2 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันไว้ก่อน โรคหลังเก็บเกี่ยว โรคเน่าราสีเทาของผลหม่อน เชื้อราสาเหตุที่พบ : Botrytis cinerea ลักษณะอาการ อาการเน่าจะเริ่มจากส่วนใดของผลก็ได้ แต่มักพบว่าเริ่มจากด้านขั้วผล เนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นโรคจะกลายเป็นสีน้ำตาลคล้ำ เชื้อสาเหตุจะสร้างเส้นใยและสปอร์สีเทาจำนวนมากปกคลุมผล ภาพแสดง โรคเน่าของผลโรคเน่าของผล เชื้อราสาเหตุที่พบ : Rhizopus sp. ลักษณะอาการ อาการผลที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายจะนิ่ม มีของเหลวไหลออกมา ต่อมาบริเวณที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายจะปกคลุมไปด้วยกลุ่มเส้นใยของเชื้อราสีขาว และสปอร์แรงเจีย สีดำ แมลงศัตรูหม่อน แมลงศัตรูหม่อนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 1. ประเภทปากกัด ได้แก่ ด้วงเจาะลำต้น แมลงค่อมทอง หนอนกระทู้หม่อน หนอนม้วน ใบและปลวก 2. ประเภทปากดูด ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอยดำ เพลี้ยหอยนิ่ม แมลงหวี่ขาว และไรแดง ด้วงเจาะลำต้นหม่อน (Stemm borror) ชื่อวิทยาศาสตร์ Apriona spp. อยู่ในอันดับ Coleoptera วงศ์ Cerambycidae ลักษณะ เป็นด้วงหนวดยาว มีปีกแข็ง ทำลายต้นหม่อนทั้งในระยะตัวหนอน และตัวโตเต็มวัย ตัวเต็มวัยตัวผู้มีสีเทาปนเหลือง ยาวประมาณ 40 มม. ตัวเมียสีนำตาลปนดำ ยาวประมาณ 45-50 มม. การระบาดและทำลาย สามารถขยายพันธุ์ได้ปีละ 1 ชั่ว ตัวเต็มวัยกัดกินยอดอ่อนและเปลือกกิ่งหม่อนตรงค่อนไปทางปลายยอดประมาณเดือน กรกฎาคม - ตุลาคม ในเดือนสิงหาคม - ตุลาคม เริ่มมีการวางไข่โดยตัวเต็มวัยจะใช้เขียวกัดเปลือกหม่อนให้เป็นแผลบริเวณล่วนล่างของโคนต้น แล้วเริ่มวางไข่ไว้ภายใน โดยจะวางไข่มากขึ้นในเดือนกันยายน ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะกัดกิน เนื้อไม้ อยู่ภายในกิ่ง และเจาะรูทะลุผิวเปลือกออกมา เพื่อเป็นที่ถ่ายเทอากาศ และถ่ายมูลออกมา หนอนจะเจริญเติบโต อยู่ภายในต้นหม่อน และออกมาเป็นตัวเต็มวัยในปีต่อไป ภาพแสดง ด้วงเจาะลำต้นหม่อนการป้องกันกำจัด 1. หมั่นตรวจแปลงหม่อนถ้าพบตัวเต็มวัยให้ทำลายเสีย 2. ถ้าพบไข่ให้ใช้เหล็กหรือไม้แหลมแทงบริเวณแผลที่วางไข่ 3. ถ้าด้วงเจาะลำต้นมักเป็นตัวหนอน กินอยู่ภายในกิ่งหม่อน แต่ยังไม่ถึงต้นตอหม่อนควรตัดเอากิ่งไปเผาทำลาย 4. ใช้สารเคมี ประเภทถูกตัวตาย หรือกินตายฉีดลงรูแล้วใช้ดินเหนียว หรือดินน้ำมันอุดรูไว้ และควรทำในช่วงการตัดต่ำ 5. ในช่วงที่ระบาดมาก ๆ ตัวเต็มวัยจะบินมาเล่นไฟตอนกลางคืนให้ดักจับทำลายเสีย เพลี้ยไฟ (Thrips) ชื่อวิทยาศาสตร์ Pseudodendrothrips mori. Niwa อยู่ในอันดับ Thysanoptera วงศ์ Thripiidae ลักษณะ เป็นแมลงปากดูด กินน้ำเลี้ยงจากใบหม่อนทั้งในระยะที่เป็นตัวเต็มวัย และตัวอ่อน ในระยะตัวอ่อนลำตัวมีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นรอยขีดสีเหลืองเข้มคล้ายฝุ่น ตัวเต็มวัยมีปีก 2 คู่ คล้าย ๆกันมีสีเหลืองแถบสีดำ บินเร็วมาก ตัวเมียโตกว่าตัวผู้ ความยาวเฉลี่ยของตัวเต็มวัย 0.9 มม. ไข่รูปร่างเป็นรูปถั่วมีสีเหลือง เพลี้ยไฟ 1 ตัววางไข่ได้ประมาณ 30 – 50 ฟอง การระบาดและการทำลาย เพลี้ยไฟหม่อนมักจะพบในจำนวนน้อยในฤดูแล้ง แต่พบมากในฤดูฝน ในระยะฝนทิ้งช่วง เพลี้ยไฟขยายพันธุ์ได้ตลอดปี ไข่ของเพลี้ยไฟ ฝังอยู่ในเส้นใบ ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ตัวอ่อนที่ฟักออก มาใหม่ ๆ มองเห็นคล้ายฝุ่นหรือรอยขีดเล็ก ๆ ตัวแก่มักกินตาม ยอดอ่อน หรือยอดแขนง ที่แตกใหม่ เมื่อเข้าทำลายในระยะที่เป็น ผลแล้วจะทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นกับผลหม่อนทำให้ คุณภาพของผลหม่อนต่ำลงได้ การป้องกันกำจัด ในแปลงหม่อนที่มีเพลี้ยไฟเข้าทำลายมาก จำเป็นต้อง ใช้สารเคมีกำจัด ซึ่งสารเคมีดังกล่าว ควรจะมีพิษตกค้างไม่นานนัก ได้แก่ แอสเซ็นด์ 5 % SC อัตรา 10 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโซโลน 35 % EC อัตรา 55 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฮอสตาธีไธออน 40 % EC อัตรา 40 ซี.ซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นตามความจำเป็นในตอนเช้าหรือเย็นถ้ามีการระบาดรุนแรงควรพ่นไม่เกิน 2 ครั้ง และไม่ควรฉีดพ่นในช่วงที่หม่อนติดผลแก่จัดแล้วเพราะจะทำให้พิษตกค้างของสารฆ่าแมลงติดไปกับผลหม่อนได้ เพลี้ยแป้ง (Mealy bug) ชื่อวิทยาศาสตร์ Maconellicoccus hirsutus. (Green) อยู่ในอันดับ Homoptera วงศ์ Coccidae ภาพแสดง เพลี้ยแป้ง ลักษณะ เป็นแมลงปากดูด ตัวเมียรูปร่างกลมรี คล้ายรูปไข่ ตัวเต็มวัยจะขับสารสีขาวคล้ายแป้งคลุมลำตัว เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะสามารถวางไข่ได้ ถึง 350 – 500 ฟองต่อตัว ลักษณะไข่รูปร่างยาว ขนาด 0.15 – 0.30 ม.ม. สีส้ม ไข่จะอยู่ในถุงแป้งเมื่อฟักออกเป็นตัวอ่อนจะแยกย้ายไปดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนที่อ่อนของต้นหม่อน เพลี้ยแป้งสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ได้เมื่อเกิดสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม การระบาดและทำลาย มักพบการระบาดรุนแรงในเดือนมีนาคม - กรกฎาคม ในพื้นที่บางแห่งอาจพบว่า มีการระบาดช่วงฤดูฝน กับฤดูหนาว เดือนตุลาคม - ธันวาคม เพลี้ยแป้งจะเกาะดูดกินน้ำเลี้ยง ตามส่วน อ่อนของหม่อน เช่น ยอดอ่อน ซอกตาที่แตกใหม่ และโคนใบ ทำให้ใบหงิกงอ แคระแกรน ใบจะหนาและมีสี เขียวเข้ม ส่วนยอดชะงักการเจริญเติบโต ข้อจะถี่ กิ่งบวม เปราะและหักง่าย ชาวบ้านเรียกว่า “ โรคกูด” หรือ “โรคหัวนกเค้า” การป้องกำจัด 1. หมั่นตรวจสอบแปลงหม่อนในช่วง เมษายน–กรกฎาคม และช่วงตุลาคม-ธันวาคม ตัดเอาส่วนที่หงิกงอ ที่มีเพลี้ยแป้งเผาทำลาย 2. การตรวจดูแลรักษาแปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ดี 3. หากพบว่ามีการระบาดมากให้ใช้สารฆ่าแมลง พอสซ์ อัตรา 20 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร พร้อมทั้งผสมสารไวท์ออยล์ลงไปด้วยเพื่อละลายสารขี้ผึ้งที่ห่อหุ้มตัวเพลี้ยแป้งอยู่ เพลี้ยหอยดำ (Black scale insect) ชื่อวิทยาศาสตร์ Saissetaa spp. อยู่ในอันดับ Homoptera วงศ์ Coccidae ลักษณะ เป็นแมลงปากดูด รูปร่างกลมรี สีดำ มีกระดองคล้ายเต่าหุ้มไว้ ขนาดโตเต็มที่ 2 – 3 ม.ม. ไข่สีแดงเรือ ๆ รูปร่างกลมรี แม่เพลี้ยหอยดำ 1 ตัววางไข่ได้ถึง 300 – 600 ฟอง มีสามารถขยายพันธุ์โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ก็ได้ ไข่ของเพี้ยหอยดำจะฟักออกเป็นตัวหลังจากวางไข่ประมาณ 6 วัน ตัวอ่อนจะมีการดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นหม่อนและมีการขับสารเพื่อสร้างกระดองห่อหุ้มตัว ตัวผู้มีการลอกคราบ 2 ครั้ง ตัวเมียลอกคราบ 3 ครั้ง หลังจากลอกคราบจะทิ้งส่วนขาออกไปหมดทำให้ต้องอยู่นิ่งอยู่กับที่ ภาพแสดง เพลี้ยหอยดำ การระบาดและทำลาย พบว่ามีการระบาด ตลอดปี ในช่วงเดือน สิงหาคม - มีนาคม พบมากในเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ส่วนยอด และตาข้าง ทำให้หม่อนอ่อนแอ เพลี้ยหอยดำยังขับถ่ายมูลเป็นน้ำหวาน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อราดำ ทำให้ใบหม่อน เปื้อนและเหนียว การสังเคราะห์แสงลดลง การป้องกันกำจัด 1. หมั่นตรวจแปลงหม่อนอยู่เสมอ ตัดกิ่งที่มีเพลี้ย หอยดำระบาดอยู่เผาทำลายทิ้ง 2. กำจัดพาหะในการแพร่ระบาด เช่นมดดำหรือมดคันไฟ 3. กิ่งพันธุ์ที่นำไปปลูกจะต้องใช้กิ่งที่ปราศจากเพลี้ยหอยดำ แมลงหวี่ขาว (White fly) ชื่อวิทยาศาสตร์ Pealius mori Takahashi อยู่ในอันดับ Homoptera วงศ์ Aleyrodidae ลักษณะ เป็นแมลงปากดูด ขนาดเล็กตัวเต็มวัยมีลำตัวยาวไม่เกิน 3 ม.ม. มีความกว้างจากขอบปีกหนึ่งไปยังอีกปีกหนึ่งประมาณ 2 – 3 ม.ม. ตัวเต็มวัยทั้งเพศผู้และเมียมีปีก 2 คู่ และปีกปกคลุมด้วยฝุ่นสีขาว เคลื่อนไหวหรือบินไปมาได้รวดเร็ว มีการผสมพันธุ์โดยไม่ต้องมีการผสม วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ใต้ใบใกล้กับเส้นใบ หลังจากฟักออกจากไข่ จะเคลื่อนไหวได้อยู่ระยะหนึ่ง จึงหยุดนิ่งดูดกินน้ำเลี้ยง บริเวณนั้น จนเข้าดักแด้ ตัวอ่อนสีเหลืองใส หรือเหลืองอมเขียว อ่อน ๆ ระยะดักแด้ มีลักษณะเป็นเกล็ดสีฟ้าใส ปกคลุม มักพบบริเวณใต้ใบล่าง ๆ จากนั้น จะฟักออกเป็นตัวเต็มวัย การระบาดและทำลาย ระบาดทั่วไปในสวนหม่อนตลอดทั้งปี จะพบระบาดมากในช่วงปลายฝน และฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม และมกราคม ตัวเต็มวัยมักพบใต้ใบบริเวณยอด ตัวอ่อน จะพบใต้ใบที่โตเต็มที่ ดักแด้จะพบในส่วนของกิ่ง แมลงหวี่ขาวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบเป็นอาหารและถ่ายมูลออกมาเป็นน้ำหวานออกมาติดบนใบหม่อน ซึ่งเป็นอาหารอย่างดี ของราดำ ถ้ามีการระบาดรุนแรง ทั้งราดำและแมลงหวี่ขาว จะมีผลทำให้ใบหม่อนหงิกงอ ใบส่วนล่างจะเหลืองและร่วงหล่น การป้องกันกำจัด การป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาว สามารถกระทำได้โดยวิธีการใช้สารเคมี คือใช้ยาฆ่าแมลงมาลาไธออน 57 % E.C. หรือ เมวินฟอส 24 % E.C. ในอัตรา 20 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ในช่วงเวลา 7.00 – 9.00 น. จะกำจัดแมลงหวี่ขาวได้ดีที่สุดและมีผลตกค้างน้อย หรืออาจใช้วิธีการป้องกันกำจัดโดยใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพร คือสารละลายจากน้ำกระเพราหรือโหรพา 5 % โดยนำมามาบดแล้วตากให้แห้ง จากนั้นนำมา ใช้ในปริมาณ 50 กรัม ผสมกับน้ำ 1 ลิตร ผสมให้เข้ากันดีในขวดสีชาหรือทึบ ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง กรองเอากากออก นำส่วนของสารละลายไปฉีดพ่นในช่วงเวลา 7.00 – 9.00 น. จะช่วยลดปริมาณแมลงหวี่ขาวลงได้ อีกทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อพิษตกค้างของสารฆ่าแมลงได้ นอกจากนั้นยังมีวิธีการที่สามารถใช้วิธีกลในการป้องกันกำจัดแบบผสมผสานในการกำจัดแมลงหวี่ขาว คือการใช้การดักสีเหลืองโดยใช้ถุงพลาสติกสีเหลืองทากาวดักแมลง ติดตั้งในแปลงหม่อนที่ระดับความสูง 1.50 เมตร ก็จะช่วยลดปริมาณของแมลงหวี่ขาวลงได้ เพลี้ยไก่ฟ้า เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดการระบาดจะเข้าทำลายสวนหม่อนให้หม่อนใบกระด้าง และร่วงหล่น ตายอดชะงัก และหยุดเจริญเติบโต เพลี้ยไก่ฟ้าจะถ่ายมูลออกมาทำให้ใบสกปรก การป้องกันกำจัด ให้ใช้สารฆ่าแมลงปรพะเภทไพรีทรอยด์ อัตรา 5 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว หรือใช้สารสะกัดจากสะเดา อัตรา 35 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร จะสามารถควบคุมการระบาดของแมลงชนิดนี้ได้ แมลงค่อมทอง (Leaf eating weevil) ชื่อวิทยาศาสตร์ Hypomeces squamosus Fabr. อยู่ในอันดับ Coleoptera วงศ์ Curculionidae ลักษณะ เป็นแมลงปากกัด ตัวเต็มวัยเป็นด้วงงวง มีหัวยื่นยาวออกมาเป็นงวง ซึ่งมักจะยาวและโค้งลง รูปร่างของลำตัว ปีกคู่หน้าและขาแข็งมาก มีสีเขียวปนเหลือง บางครั้งมีสีทองซึ่งเป็นที่มาของชื่อ แมลงค่อมทอง บางครั้งลำตัวจะมีสีน้ำตาล จะกัดกินใบจนเว้าแหว่งเหลือแต่เส้นกลางใบ พบว่าระบาดในสวนหม่อนประปรายตลอดทั้งปี การป้องกันกำจัด 1. สำรวจแปลงหม่อนเป็นประจำ ถ้าพบแมลงค่อมทองให้จับทำลาย 2. ถ้ามีการระบาดรุนแรงจนใบหม่อนเสียหายมาก ให้ใช้สารฆ่าแมลง เซฟวิ่น 85 อัตรา 30 – 40 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นทำลาย หนอนบุ้ง (Hairy Caterpillar) หนอนบุ้งไม่จัดว่าเป็นแมลงที่มีความสำคัญพบในปริมาณไม่มาก ตัวหนอนกัดกินใบอ่อนของหม่อน หนอนกระทู้ผัก (Common Cutworm) หนอนกระทู้กระผักนอกจาก จะเป็นแมลงศัตรูสำคัญของพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ยังพบว่าเข้าทำลายหม่อนได้ โดยผีเสื้อเพศเมียบินมาวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบหม่อน หนอนผักออกจากไข่นับร้อยตัวกัดกินใบอ่อนทำให้ใบแห้งกรอบและร่วงหล่น หนอนเมื่อโตขึ้นจะกัดกินใบและผล สัตว์ศัตรูหม่อน ตัวตุ่น นับว่าเป็นศัตรูที่สำคัญของต้นหม่อนมากเนื่องจากหากเข้าทำลายต้นหม่อนที่เริ่มให้ผลผลิตแล้วจะทำให้หม่อนตายไปทั้งต้น ลักษณะการเข้าทำลายคือจะเข้ากัดกินรากของต้นหม่อนโดยการขุดเป็นรูจากพื้นดินเข้าไปบริเวณรากของต้นหม่อนแล้วกัดกินรากต้นหม่อน ต้นหม่อนจะค่อยๆ เหี่ยวและตายในที่สุด การป้องกันกำจัดคือ ใช้กับดักวางไว้รอบๆบริเวณสวนหม่อนหลายจุด หรือหากตรวจพบว่าบริเวณโคนต้นหม่อนมีร่องรอยของการขุดรูของตัวตุ่นซึ่งจะเริ่มขุดรูเข้าไปบริเวณรากต้นหม่อน ก็ให้ขุดหลุมเข้าไปบริเวณที่เป็นรูแล้วฆ่าตัวตุ่นทิ้ง ตลาดของผลหม่อน การดำเนินกิจกรรมทางด้านการเกษตรจะต้องคำนึงถึงปัญหาทางด้านการตลาดเป็นอันดับแรกเพื่อไม้ให้ภาคการผลิตต้องมามีปัญหาในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต ผู้ที่จะดำเนินการปลูกหม่อนรับประทานทานผลจะต้องนำผลการวิเคราะห์ปัญหาการตลาดของผลหม่อนให้แน่นอนก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการปลูกหม่อนเพื่อนำไปรับประทานผลทั้งในด้านผลสดและการแปรรูป ซึ่งตลาดของหม่อนรับประทานผลในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้ 1. การจำหน่ายในรูปของการรับประทานผลสด ในตลาดผลไม้ทั่วไปและตลาดของการจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวเนื่องจากผลหม่อนเป็นไม้ผลชนิดใหม่ของท้องตลาด ปัจจุบันมีการจำหน่ายกันมากบริเวณตลาดริมทางหลวงบริเวณโครงการหลวงขุนกลาง ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ราคา ประมาณ 20 บาท / 100 กรัม 2. การจำหน่ายในรูปของน้ำผลไม้สำเร็จรูปบรรจุขวด เนื่องจากน้ำหม่อนสำเร็จรูปมีรสชาดที่อร่อยกลิ่นหอมมีลักษณะเฉพาะตัว มีสีสันสวยงาม ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ผลหม่อนสุก 1.5 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำหม่อนสำเร็จรูปได้ถึง 8 ขวด(750 ซี.ซี.) ขณะนี้มีบางบริษัทได้ทำการผลิตน้ำผลหม่อนบรรจุกระป๋องออกจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว 3. การจำหน่ายในรูปของการแปรรูปเป็นแยมผลหม่อน แยลลี่ผลหม่อน หรือผลผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นได้เองโดยง่าย 4. การจำหน่ายผลหม่อนสุกให้กับโรงงานผลิตน้ำผลไม้ และโรงงานผลิตไวน์หม่อน รวมทั้งโรงงานที่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตไวน์หม่อนโดยหลายบริษัท และได้นำออกจำหน่ายในท้องตลาด โดยการผ่านการเสียภาษีสรรพสามิตถูกต้องตามกฏหมายเรียบร้อยแล้วและมีการประกันราคารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 20 -30 บาท
การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลหม่อน ผลหม่อนพันธุ์นครราชสีมา 60 บุรีรัมย์ 60 หม่อนพันธุ์ ศรีสะเกษ 33 และหม่อนรับประทานผลสายพันธุ์เชียงใหม่ มีผลขนาดใหญ่กว่าพันธุ์พื้นเมืองมีคุณค่าทางอาหารบางอย่างต่อร่างกาย นอกจากการรับประทานผลสดแล้วสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิคภัณฑ์ได้หลายชนิด อาทิ น้ำหม่อน ไวน์หม่อน เยลลี่หม่อน แยมหม่อนหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในประเทศออสเตรเลียมีการทำไวน์หม่อนเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว นอกจากนั้นในประเทศสหรัฐอเมริกายังมีการนำไปทำไวน์เช่นกันและพบว่าไวน์หม่อนที่ได้ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไวน์ที่ทำมาจากผลองุ่น ดังนั้นเกษตรกรที่มีอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมซึ่งปลูกหม่อนที่ให้ผลผลิตใบและผลสูงเช่นพันธุ์หม่อนดังกล่าวสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวในการนำมาทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆได้เพื่อเป็นการเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง การทำน้ำหม่อน ส่วนผสม ผลหม่อนสีแดง : สีม่วง 1 : 1 หรือ 1 : 2 1.5 กิโลกรัม น้ำตาล 1.0 กิโลกรัม น้ำ 4.5 ลิตร ขั้นตอนการทำ นำผลหม่อนที่น้ำก้านออกแล้วล้างน้ำให้สะอาด นำผลหม่อนใส่หม้อเติมน้ำตั้งไฟให้พอเดือด น้ำผลหม่อนบรรจุขวด เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ นาน 20 – 30 นาที คั้นน้ำ กรองเมล็ดและกากออก รินน้ำกลับใส่หม้อต้ม เติมน้ำตาล กรองใส่ขวดที่แห้งและฆ่าเชื้อด้วยน้ำร้อนปิดจุกให้แน่น แช่เย็นเก็บไว้ดื่ม หรือใส่น้ำแข็งดื่ม การทำน้ำหม่อนถ้าใช้ผลสุกจัดสีม่วง จะมีเพียงรสหวานอย่างเดียวไม่มีรสเปรี้ยวไม่เป็นที่ยอมรับทางด้านประสาทสัมผัสในด้านลักษณะสีที่ปรากฏ รสชาด ในขณะที่การใช้ผลสีแดง : สีม่วง = 1 : 1 และ 1 : 2 ได้รับความนิยมรวมสูงกว่าอัตราส่วนผสมอื่น การทำไวน์หม่อน ส่วนผสม ผลหม่อนสีแดง : สีม่วง 1 : 1 หรือ 1 : 2 1.5 กิโลกรัม น้ำตาล 1.0 กิโลกรัม น้ำ 4.5 ลิตร โปแตสเซียมเมตาไบซัลไฟท์ (KMS) 15 กรัม / ไวน์ 10 ลิตร เชื้อยีสต์ Saccharomyces Cerevisiae var. ellipsoides strain Burgandy กรดน้ำส้ม ขั้นตอนการทำ เตรียมน้ำหม่อนเพื่อทำไวน์ โดยล้างผลหม่อนที่นำก้านออกแล้วให้สะอาดเติมน้ำ แบ่งน้ำหม่อน 5% ของปริมาตรทั้งหมด น้ำหม่อนที่เหลือในขวดหมักไวน์ เติมน้ำตาลปรับความหวานเป็น 15 องศาบริกซ์ ปรับความหวานเป็น 20 องศาบริกซ์ ปรับ pH = 4 ด้วยกรดน้ำส้ม ต้มเดือดเพื่อฆ่าจุลินทรีย์ใส่ขวด ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์โดยต้มให้เดือดนาน 20 นาที ทิ้งไว้ ให้เย็น เติมเชื้อยีสต์อุดปากขวดด้วยสำลี หุ้มด้วย ใส่เชื้อหมักแม่ส่าไวน์หมักที่ 15-25 องศา เซลเซียส กระดาษอลูมิเนียมทิ้งไว้จนเกิดฟองอากาศ 1-2 วัน นาน 20-30 วัน เชื้อหมักแม่ส่าไวน์ (Starter) ใช้สายยางดูดไวน์ใส่ขวดทั้ง ตะกอน ตั้งทิ้งไว้จนไวน์ใส หมักในขวดประมาณ 2 สัปดาห์ ต้มฆ่าเชื้อที่ 60 องศาเซลเซียส 30 นาที หรือใส่ KMS 1.5 กรัม / ไวน์ 10 ลิตร บ่มในถังนาน 3-6 เดือน บรรจุไวน์ในขวดปิดจุกคอร์ค วางนอนไว้เพื่อทดสอบการรั่วซึมของไวน์ ภาพแสดง ผลหม่อนสำหรับทำไวน์ ปิดแค๊ปฝาขวด และปิดฉลากไวน์ แยมผลหม่อน ส่วนผสม เตรียมลูกหม่อนสีแดง และสุกสีม่วง อัตราส่วน 1 : 2 โดยผสมกับส่วนผสมต่างๆ คือ ส่วนผสม การทำแยมผลหม่อน การทำแยมผลหม่อน ผลหม่อน / กากผลหม่อน น้ำตาล เพคตินผง กรดมะนาว น้ำ โซเดี่ยมเบนโซเอท 200 กรัม 240 กรัม 4 กรัม 3.2 กรัม 320 มิลลิกรัม 0.2 กรัม 200 กรัม 240 กรัม 4 กรัม 4 กรัม 320 มิลลิกรัม 0.2 กรัม ลูกอมผลหม่อน ส่วนผสม มีส่วนผสมดังนี้ น้ำตาลปี๊ป 1.5 ถ้วย (407 กรัม) แบะแซ 1 ถ้วย (280 กรัม) เกลือ 1 ช้อนชา (463 กรัม) ผลหม่อนแดง 1 ถ้วย (101 กรัม) ผลหม่อนม่วงดำ 2 ถ้วย (226 กรัม) กรดมะนาว 1 ช้อนชา (4.44 กรัม) การใช้ประโยชน์จากผลหม่อนในด้านสมุนไพร การนำผลหม่อนไปใช้ประโยชน์ในทางยารักษาโรคของมนุษย์มีมานานนับตั้งแต่มนุษย์รู้จักปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้ว ซึ่งจะสามารถค้นพบได้จากตำรับยาแผนโบราณของจีน และของชาติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ โรคไขข้ออักเสบ ปวดไขข้อ ชาตามแขนขา ใช้ผลหม่อนแห้ง 30 – 60 กรัม ต้มรับประทานทั้งเนื้อทั้งน้ำ กินกับเหล้าเหลือง หรือใช้ผลหม่อนแห้ง 500 กรัม ดองในเหล้า 1 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 1 สับดาห์ ดื่มตอนเช้า-เย็น ครั้งละ 15 ซีซี. โรคโลหิตจาง ร่างกายอ่อนแอไม่มีแรง ใช้ผลหม่อนแห้ง 30 กรัม น้ำผึ้งอีกเล็กน้อยต้มดื่ม โรคเบาหวาน ใช้ผลหม่อนและสมุนไพรจีน ไหม้ตง, หยีจู๋, สือหู, เทียนฮัวะเฟิน จำนวนเท่าๆ กันต้มดื่ม อาการท้องผูก ใช้ผลหม่อนสุกคั้นเอาน้ำดื่ม ครั้งละ 15 ซีซี. วันละ 2 ครั้ง ดื่มกับน้ำสุก ติดต่อกัน 1 สับปดาห์ อาการประจำเดือนขาด ใช้ผลหม่อนแห้ง 15 กรัม ดอกคำฝอย 3 กรัม สมุนไพรจีน จีเสวียเถิง 12 กรัม เติมเหล้าและน้ำต้มดื่ม 2 ครั้ง ใน 1 วัน องค์การเภสัชกรรมของประเทศอังกฤษ ได้นำผลหม่อนไปผลิตยาแผนปัจจุบันโดยการนำน้ำผลหม่อนไปผสมเป็นน้ำไซรับของยาน้ำเชื่อม เพื่อเพิ่มกลิ่นและสีของยาให้น่ารับประทาน ดังนี้ นำน้ำผลหม่อน มา 50 drachm มาต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นนำไปกรองให้ใส เติมน้ำตาลลงไป 90 drachm แล้วนำไปอุ่นให้น้ำตาลละลาย ทิ้งไว้ให้เย็น จึงค่อยเติม แอลกอฮอล์ 6.25 drachm ลงไป ซึ่งจะได้ตัวยาประมาณ 100 drachm หรือ 20 ออนน์ สามารถนำไปใช้ครั้งละ 1-2 drachm เพื่อเป็นยาระบาย ขับเสมหะ และใช้กลั้วคอเพื่อลดการอักเสบของคอได้ จากการที่ผลหม่อนมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้หลายชนิดจึงได้มีการศึกษาสารประกอบ Quercetrin ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ของผลหม่อนและไวน์หม่อน ดังนี้ จะเห็นได้ว่าทั้งในผลหม่อนสุก ผลหม่อนสุกห่าม และในไวน์หม่อนที่ผลิตจากแหล่งต่าง ๆ มีปริมาณ สาร Quercetrin อยู่ในปริมาณที่สูง จึงสรุปได้ว่าการนำผลหม่อนไปเป็นส่วนประกอบในการปรุงเป็นยาสมุนไพรแผนโบราณ ทั้งตามตำรับจีน และตำรับอังกฤษของคนสมัยโบราณเป็นการใช้ที่ถูกต้อง และจากผลการศึกษาดังกล่าวย่อมเป็นข้อพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าสามารถใช้ผลหม่อนเป็นสมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆได้เป็นอย่างดี บทสรุป หม่อนรับประทานผล เป็นการนำประโยชน์จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มาใช้ประโยชน์ในอีกมุมมองได้อย่างวิเศษ และผสมผสานทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป การนำไปใช้ประโยชน์ และด้านการตลาด ได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด ซึ่งหากมีการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ การเขตกรรมทั้งในด้านการตัดแต่งกิ่ง การขยายพันธุ์ เทคโนโลยีด้านดิน ปุ๋ยและการจัดการน้ำ ตลอดจนการหาเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตหม่อนให้มีผลผลิตที่สูงขึ้นและสามารถติดดอกออกผลได้ตลอดทั้งปี การหาวิธีการป้องกันกำจัดโรค แมลง ศัตรูหม่อนที่ได้ผล การศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวผลหม่อนและการเก็บรักษาผลหม่อนได้สามารถเก็บรักษาได้เป็นระยะเวลานาน ราคาถูก ก็จะเป็นการช่วยให้การนำประโยชน์จากผลหม่อนไปสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นยังจะต้องมีการคิดค้นวิจัยในด้านการนำผลหม่อนไปใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านการบริโภคและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ให้มากขึ้นด้วย รวมทั้งจะต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคยอมรับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากผลหม่อนให้เป็นที่แพร่หลายด้วย บรรณานุกรม กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม. 2539. ไวน์ฝรั่งเศสเมรัยอมตะ. พิมพ์ครั้งที่ 3. สำนักพิมพ์ดวงกมล, กรุงเทพฯ.320 น. กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์. (ไม่ระบุปีที่ตีพิมพ์). ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหม่อนไหม. เอกสารประกอบการฝึกอบรม โครงการพัฒนาด้านการผลิตและการตลาดของกลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์. กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์. 28 น. เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์. 2527. การปรับปรุงพันธุ์พืชชั้นสูง. ภาควิชาพืชไร่นา, คณะเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 161 น. กองกีฏวิทยา. 2543. คำแนะนำการป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ปี 2543.โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, กรุงเทพฯ. 282 น. จรรยา มณีโชติ, พินัย ห้องทองแดง และประทีป กระแสสินธุ์. 2532 ก. การศึกษาสารกำจัดวัชพืชคลุมดินในสวนหม่อน. น. D8-D14. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2532, ไหมไทยลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. จรรยา มณีโชติ, พินัย ห้องทองแดง และประทีป กระแสสินธุ์. 2532 ข. ประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชในหม่อนแต่งกิ่ง. น. D19-D26. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2532, ไหมไทยลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. จรรยา มณีโชติ, พินัย ห้องทองแดง และประทีป กระแสสินธุ์. 2537. ประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืชประเภทใชหลังงอกในสวนหม่อน. น.73-77. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2537, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. จิรศักดิ์ เพ็ชรมีศรี, บุบผา อุดทะปา และ จารึก ณ นคร. 2535 ก. การศึกษาประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงชนิดถูกตัวตายในการป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวหม่อนและพิษตกค้างที่มีต่อหนอนไหม. น.73-77. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ไหม ต่างประเทศลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. จิรศักดิ์ เพ็ชรมีศรี, บุบผา อุดทะปา และ จารึก ณ นคร. 2535 ข. การใช้พืชสมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงปากดูด. น.78-84. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ไหมต่างประเทศลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. จิรศักดิ์ เพ็ชรมีศรี และ มาโนช ปัญญวานิช. 2535. ศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารฆ่าแมลงชนิดถูกตัวตายป้องกันกำจัดแมลงปากดูด. น.70-72. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ไหมต่างประเทศลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. จิรศักดิ์ เพ็ชรมีศรี และ มาโนช ปัญญวานิช. 2537. ความสูงระยะต่างๆของกับดักสีที่มีผลต่อแมลงหวี่ขาว. น.64-68. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ไหมต่างประเทศลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. ชอุ่ม เปรมัษเฐียร, สุกัญญา ชุ่มชื่น, ปรีชา แต่งผิว, สมชาย ลือมั่นคง, ไชยยงค์ สำราญถิ่น และส่งรักษ์ เต็งรัตนประเสริฐ. 2545. น. 211-222. ใน การประชุมวิชาการหม่อนไหมประจำปี 2545. สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. ชูชาติ นพพวงและสำเริง วิชานา. 2535 ก. การรวบรวมและบำรุงรักษาพันธุ์หม่อนสายพันธุ์พื้นเมือง สายพันธุ์ต่างประเทศ และสายพันธุ์ลูกผสม. น. 35-40. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ศูนย์วิจัยหม่อนไหมอุดรธานี, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. ชูชาติ นพพวงและสำเริง วิชานา. 2535 ข. การคัดเลือกและศึกษาพันธุ์หม่อนสายพันธุ์พื้นเมือง สายพันธุ์ต่างประเทศ และสายพันธุ์ลูกผสม. น. 41-47. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ศูนย์วิจัยหม่อนไหมอุดรธานี, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. ธเนศ จันทร์เทศ, ดนัย นาคประเสริฐ และสิทธิณรงค์ อุ่นจิต. 2537. การเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทใช้หลังวัชพืชงอกในหม่อน. น.69-73. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ไหมต่างประเทศลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. ธีรวัลย์ ชาญฤทธิเสน. 2542. เรียนรู้การทำไวน์ผลไม้ด้วยตนเอง. ศิลปการพิมพ์, ลำปาง. 72 น. ธวัธชัย ณ นคร. 2536. แนวทางการจัดการดินในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน. น. 1-22. ใน เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร การเกษตรยั่งยืน หัวข้อวิชาการจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย ในระบบเกษตรกรมยั่งยืน. กองการเจ้าหน้าที่, กรมวิชาการเกษตร. ปิยะศักดิ์ ชิตแก้ว, ธีระ รุจิเมธาภาส และคณิตา วงศ์คณานนท์. 2544. การพัฒนาวิธีวิเคราห์ Quercetin ในไวน์หม่อน โดยวิธีรีเวิร์ส เฟส เอส พีแอล ซี (RP-HPLC) บนคอลัมน์ Inertsill ODS-3 . 55 น. สถาบันวิจัยหม่อนไหม. 2541. การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม.สถาบันวิจัยหม่อนไหม. กรมวิชาการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 40 น. สมโพธิ อัครพันธุ์. 2539. การพัฒนาหม่อนไหมในประเทศไทย. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด, กรุงเทพฯ. 179 น. สุริยะ จันทร์แสงศรี, ส่งรักษ์ เต็งรัตนประเสริฐ และปรีชา แต่งผิว. 2538. น. 90-96. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2538, ไหมต่างประเทศลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. ศูนย์วิจัยหม่อนไหมศรีสะเกษ. 2541. หม่อนพันธุ์ศรีสะเกษ 33. ศูนย์วิจัยหม่อนไหมศรีสะเกษ, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. 25 น. วสันต์ นุ้ยภิรมย์. 2543. การปลูกหม่อนเพื่อรับประทานผลสด.กสิกร. ปีที่ 73 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม 2543. น.293-299. วสันต์ นุ้ยภิรมย์, ชาญณรงค์ พูนศิลป์, ไชยยงค์ สำราญถิ่น, ปาน ปั้นเหน่งเพชร, อนุสรณ์ เหลือแก้ว และพงศ์พันธุ์ จึงอยู่สุข. 2545 ก. ศึกษาวิธีการบังคับทรงพุ่มให้หม่อนรับประทานผลออกดอก. น. 35-40. ใน การประชุมวิชาการหม่อนไหมประจำปี 2545. สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. วสันต์ นุ้ยภิรมย์, ชาญณรงค์ พูนศิลป์, ไชยยงค์ สำราญถิ่น, ปาน ปั้นเหน่งเพชร, อนุสรณ์ เหลือแก้ว และพงศ์พันธุ์ จึงอยู่สุข. 2545 ข. อิทธิพลของฮอร์โมนพืชที่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มผลผลิตผลหม่อน. น.19-30. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2545, ศูนย์วิจัยหม่อนไหมแพร่, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. วสันต์ นุ้ยภิรมย์, ชาญณรงค์ พูนศิลป์, ไชยยงค์ สำราญถิ่น, ปาน ปั้นเหน่งเพชร, อนุสรณ์ เหลือแก้ว และพงศ์พันธุ์ จึงอยู่สุข. 2545 ค. อิทธิพลของระยะปลูกและวิธีการตัดแต่งกิ่งที่มีผลต่อผลผลิตหม่อนพันธุ์ต่าง ๆ. น. 31-39. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2545, ศูนย์วิจัยหม่อนไหมแพร่, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. วิโรจน์ แก้วเรือง, สถาพร วงศ์เจริญวนกิจ, ประยูร หาสาง, ณรงค์ รักษ์รตนากร และสมัคร คอวนิช. 2535. ผลของระยะเวลาหลังการตัดท่อนพันธุ์หม่อนก่อนจุ่ม NAA ต่อการออกรากของหม่อนพันธุ์นครราชสีมา 60. น. 1-7. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ศูนย์วิจัยหม่อนไหมอุดรธานี, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. วิโรจน์ แก้วเรือง, สมัคร คอวนิช, สถาพร วงศ์เจริญวนกิจ, ประยูร หาสาง และกิตติชัย จันทคัต. 2535. การเปรียบเทียบการปลูกหม่อนจากกิ่งปักชำ. น. 35-40. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ศูนย์วิจัยหม่อนไหมอุดรธานี, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. วิโรจน์ แก้วเรือง, แสงเงิน ไกรสิงห์, กัลยานี ตันติธรรม, สถาพร วงศ์เจริญวนกิจ, ประทีป มีศิลป์, สมบูรณ์ โกมลนาค, ณรงค์ รักษ์รัตนากร, ประยูร หาสาง และพัจนา ชูพานิช. 2535. การศึกษาคุณค่าทางอาหารของผลหม่อนและการนำมาใช้ประโยชน์. น. 15-27. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ศูนย์วิจัยหม่อนไหมอุดรธานี, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. สถาบันวิจัยหม่อนไหม. 2535. ไหมไทย. สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 163 น. อำไพ สินพัฒนานนท์ และ พินัย ห้องท้องแดง. 2535. การศึกษาจำนวนโครโมโซมของหม่อนพันธุ์พื้นเมือง. น.16-19. ใน รายงานการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2535, ไหมต่างประเทศลูกผสม, สถาบันวิจัยหม่อนไหม, กรมวิชาการเกษตร. A. Armentia, M. Lombardero, D. Barber, A. Callejo, J. Vega, C. Martinez and S. Rebollo. 1999. Anafila por moras (Morus nigra). J. Allergy Clin Immunol, 1999. 6 : 398-401. (in Spain) A. Muroga, P. Hongthongdaeng, A. Sinpattananon and J. Petmeesee. 1988. Studies on the characteristics of mulberry varieties and improvement of techniques of mulberry cultivation in Thailand. Department of agriculture, Thailand. 141 p. A.K. Jain and R. Kumar. 1989. P.37-42. Mulberry species and their distribution in north eastern India. In K. Sengupta and S.B. Dandin. (ed.) Genetic Resources of Mulberry and Utilisation. Central Sericultural Research and Training Institute Mysor, India. Anil Dhar and M.M. Ahsan. Mulbery species and their distribution in north-western Himalayas. P.111-124. In K. Sengupta and S.B. Dandin. (ed.) Genetic Resources of Mulberry and Utilisation. Central Sericultural Research and Training Institute Mysor, India. Available : http://newcrop.hort.purdue.edu/newcrop/crop/mulberry.html. 1 May 2002. Available : http.state.vipnet.org/dof/redmul.htm. 1 May 2002. Available : http://www.sis.gov.eg/public/magazine/iss012e/.html/art09txt.htm. 1 May 2002. Available : http://www.Info @ crfg.org. 1997. Mulberry. California Rare Fruit Growers, Inc.U.S.A. B.C. Das. 1986. Mulberry Breeding. P.19-24. In G. Boraiah.(ed.) Lectures on Sericlture. Suramya Publishers, Bangalore. C. Noppavong. 1991. Hybridization of variation mulberry clone and characterization of their F1 progenies. Thesis in Master Degree. Faculty of The Graduate School. University of The Philipines. 120 p. H. Machii, A Koyama and H. Yamanouchi. Mulberry breeding, cultivation and utilization in Japan. National institute of sericultural and emtomological science, Owashi, Tsukuba, Ibaraki, Japan. M. Sanjappa. 1989. Geographical distribution and exploration of the genus morus L. P.1-9. In K. Sengupta and S.B. Dandin. (ed.) Genetic Resources of Mulberry and Utilisation. Central Sericultural Research and Training Institute Mysor, India. P.K. Tewary, S. Chakraborty and G. Subba Rao. 1989. Taxanomy of the morus L. : A critical appraisal. P.49-54. In K. Sengupta and S.B. Dandin. (ed.) Genetic Resources of Mulberry and Utilisation. Central Sericultural Research and Training Institute Mysor, India. R. Balakrishna and S.R. Ramesh. 1989. P.33-35. In K. Sengupta and S.B. Dandin. (ed.) Genetic Resources of Mulberry and Utilisation. Central Sericultural Research and Training Institute Mysor, India. S.B. Dandin. 1989. India collection of mulberry germplasm. P.9-32 . In K. Sengupta and S.B. Dandin. (ed.) Genetic Resources of Mulberry and Utilisation. Central Sericultural Research and Training Institute Mysor, India. S.R. Ramesh and Basavaiah. 1989. Systematic position of the genus morus L. In K. Sengupta and S.B. Dandin. (ed.) Genetic Resources of Mulberry and Utilisation. Central Sericultural Research and Training Institute Mysor, India. S.B. Dandin and K. Senguta. (no date). Mulberry cultivation as high bush and small tree in hilly regions. Central Sericultural Research and Training Institute Mysor, India. 23 P.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น