ยินดีต้อนรับ สู่...ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่

ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ เปิดรับสั่งจองพันธุ์ไข่ไหม และกิ่งพันธุ์หม่อน


ติดต่อเรา : ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่

8 ส.ค. 2550

สาระน่ารู้ : สำหรับสุขภาพ

เบาหวาน เบาหวาน-หากจะแก้ปัญหาให้ตรงเหตุ จาก มติชน [ SCRIPT language=JavaScript src="/global_js/global_function.js"> วัน เสาร์ ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2550 04:18 น. โดย นพ.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ yawapong@anet.net.th
เบาหวาน เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ หลายคนต้องจ่ายค่ายาทุกเดือนในราคาแพง ไม่ว่ายาคุมเบาหวาน ลดไขมันเลือด ลดความดัน ยาหัวใจฯ บางคนกินยาเป็นกำมือ แต่ที่น่ากังวลมากที่สุด คือหากเกิดแทรกซ้อน จะต้องจ่ายค่ารักษาแพงมาก เช่นเป็นโรคหัวใจขาดเลือด แผลเบาหวานเน่าจนต้องตัดขา ค่ารักษาจะสูงแต่จ่ายเพียงครั้งเดียวหรือเป็นครั้งครา แต่หากเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ก็อาจรักษาที่บ้าน ซึ่งค่ารักษาอาจไม่แพง แต่จะเป็นภาระหนักสำหรับบุตรหลานและญาติที่ต้องดูแล โรคแทรกซ้อนที่น่ากังวลสุดคือโรคหัวใจล้มเหลวและโรคไตวาย ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวมักมีอาการเหนื่อยง่าย เท้าบวม น้ำท่วมปอดจนนอนราบไม่ได้ มักมาโรงพยาบาลด้วยอาการหอบจนหน้าเขียว อยู่โรงพยาบาลได้รับยาขับน้ำสัก 3-4 วัน อาการดีขึ้น แพทย์ให้กลับบ้าน แต่อีก 1-2 สัปดาห์ก็มีอาการอีก ต้องรับรักษาไว้ในโรงพยาบาล เข้าๆ ออกๆ เป็นเช่นนี้ 1-2 ปีก่อนจะสิ้นชีวิต ส่วนโรคไตวายเรื้อรัง ต้องล้างไตสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ค่าใช้จ่ายประมาณ 2-6 หมื่นบาทต่อเดือน บางรายจ่ายสูงกว่านี้ อาจล้างอยู่นานหลายปี โรคไตวายจะเป็นภาระค่ารักษาที่ใช้เงินมากที่สุด แม้หลักประกันสุขภาพฯ (30 บาทรักษาทุกโรค) ก็ยังไม่อาจรับภาระค่าล้างไตไว้ในโครงการ โรคเบาหวานร้อยละ 90 เป็นเบาหวานประเภท 2 เป็นผู้ใหญ่พุงพลุ้ย และชอบกินแป้งกินหวาน พุงพลุ้ยเป็นสัญลักษณ์ว่าร่างกายได้สะสมสารอาหารเกือบเต็มพิกัด เซลล์เนื้อเยื่อจะไม่ตอบสนองต่อฤทธิ์อินซูลินเพื่อปิดกั้นมิให้สารอาหารผ่านเข้าเซลล์เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีกรดไขมันอิสระทะลักออกมาจากไขมันพุงเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเก็บสะสมน้ำตาลเป็นไกลคอเจนได้น้อยลงด้วย คนพุงพลุ้ยเมื่อบริโภคน้ำตาลและแป้งเป็นจำนวนเกิน ก็จะมีระดับน้ำตาลเลือดสูงในช่วงหลังอาหาร การกินแป้งและน้ำตาลมากร่างกายจะผลิตกรดแลคติกเพิ่มขึ้น บวกกับกรดไขมันที่ทะลักจากไขมันพุง ทำให้ ช่วงท้องว่างมีการผลิตน้ำตาลที่ตับและไตเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลเลือดที่เจาะก่อนอาหารเช้าจึงสูงด้วย คลีนิคเบาหวาน เกือบทุกแห่งมีผู้ป่วยมารับบริการเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นทุกปี ที่โรงพยาบาลรัฐแพทย์มีเวลาให้ 2-3 นาทีต่อคน แม้จะคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ก็ไม่ค่อยมีเวลาไต่ถามเรื่องอาหารการกินอย่างละเอียด ทั้งๆ ที่มีสาเหตุจากการกินเกิน หลังซักไซ้ชื่อแซ่ ดูระดับน้ำตาลก็ต้องรีบจบด้วยเขียนใบสั่งยาแล้วไปดูแลผู้ป่วยคนต่อไป ยาที่ให้ส่วนใหญ่เป็นยากินลดน้ำตาล ซึ่งออกฤทธิ์ระงับการสร้างน้ำตาลที่ตับ จึงมักเกิดร่างกายขาดน้ำตาลช่วงท้องว่าง คือมีอาการมึนศีรษะ ใจสั่น โหยอยากกินหวาน และเมื่อกินหวานอาการก็ดีขึ้น คนกินยามากจะอยากกินหวานโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นเหตุให้คุมน้ำตาลไม่ได้ แพทย์ผู้รักษาพบผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นมักเพิ่มยาให้แรงขึ้น ผลคือผู้ป่วยยิ่งมีอาการโหยน้ำตาลบ่อยขึ้น และบางครั้งเกิดอาการช็อคน้ำตาล สุดท้ายหลายคนก็ต้องจบด้วยการฉีดอินซูลิน และต้องฉีดขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แพทย์บางท่านนิยมใช้ยาใหม่ยาแพง อาจเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญคิดว่าต้องใช้ยาพิเศษต่างจากแพทย์ทั่วไป มีข้าราชการรายหนึ่ง จ่ายค่ายาเดือนละ 2-3 พันบาท บอกว่าโชคดีที่เบิกหลวงได้ แต่โชคของท่านก็เป็นเรื่องปวดหัวของกรมบัญชีกลางและผู้เสียภาษี ความจริง ยาเหล่านี้ก็ไม่ช่วยคุมน้ำตาลหรือป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ดีกว่า อีกทั้งหารู้ไม่ว่าตนกำลังตกเป็นหนูลองยา ประเมินว่า ประเทศต้องจ่ายค่ายารักษาเบาหวาน ปีละ 3.5-8.4 หมื่นล้านบาท ความจริงอาจเป็นเงินสูงกว่านี้หลายเท่า ผู้ป่วยที่รับการรักษาปัจจุบันร้อยละ 70 คุมเบาหวานถือว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี (FBS>140 มก/ดล. หรือ HbA 1c>7%) คนกลุ่มนี้ย่อมมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนสูง หมายความว่า ทรัพยากรที่ทุ่มเทไปได้ประสิทธิภาพผลต่ำมาก หลายคนที่เคยเป็นเบาหวาน กล่าวยืนยันว่า ยาสมุนไพรก็ช่วยแก้ได้ มีการสำรวจคร่าวๆ พบผู้ป่วยเบาหวานเกือบร้อยละ 80 ใช้ยาสมุนไพรร่วมด้วยโดยไม่แจ้งให้แพทย์ทราบ บางคนไม่ยอมกินยาหมอ จะใช้แต่สมุนไพร การกล่าวอ้างว่าเบาหวานหายก็มิใช่ว่าจะไร้พื้นฐานความเป็นจริง คือไม่ว่ายาสมุนไพรจะช่วยได้จริงหรือไม่ เมื่อทราบว่าเป็นเบาหวานก็พยายามคุมกินแป้งกินหวานให้น้อยลง การตรวจน้ำตาลเลือดครั้งต่อไปก็ย่อมดีกว่าเดิม เป็นการประหยัดเงินหลวงเงินราษฎร์ได้ไม่น้อย แต่คงไม่ปรากฏเป็นข้อมูลสถิติที่ในที่ใดๆ สมาคมเบาหวานสหรัฐอเมริกา (ADA) ได้แถลงแนวทางการรักษา เน้นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (life style intervention) ลดน้ำหนักโดยการจำกัดอาหาร ออกกำลังกาย ว่าเป็นการรักษาที่สำคัญเป็นอันดับแรก (Diabetes Care 2007;30:S4) ส่วน EASD และ IDF (European Association for the Study of Diabetes, International Diabetes Federation) ก็มีแนวการรักษาคล้ายกัน โดยxxxทุกคนมักจะชอบดำรงชีวิตแบบเดิมๆ (status quo) และหากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องคำนึงว่า ต้องลงทุนหรือสูญเสียอะไร แล้วอะไรเป็นสิ่งตอบแทน และมีความยุ่งยากหรือคุ้มค่าในการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน โรคเบาหวานระยะแรกมักไม่มีอาการ ส่วนโรคแทรกซ้อนก็เป็นสิ่งอาจเกิดขึ้นใน 15-20 ปีข้างหน้า ซึ่งก็เป็นอนาคตที่เลือนราง จึงไม่ค่อยเป็นแรงจูงใจให้เปลี่ยนแปลงเพราะยังไม่เห็นโลงศพ การเปลี่ยนแปลงอาจมีความยุ่งยากในการจัดหา หรือต้องสูญเสียความสุขที่ได้บริโภคอาหารที่อร่อยและคุ้นปาก คนที่ยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตจึงมักจะเป็นคนมีภาวะใกล้วิกฤต แต่บางครั้งก็อาจเป็นช่วงสั้น คือเมื่อความรู้สึกวิกฤตผ่านไป ก็กลับมามีนิสัยการกินแบบเดิมๆ พื้นฐานความคิดของแต่ละคนก็มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลง เช่น คนที่มีความรู้สึกชีวิตรันทด หากบอกว่าการเปลี่ยนนิสัยการกินจะช่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น ก็คงไม่เป็นสิ่งจูงใจพอที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การชอบกินหวานเป็นธรรมชาติของสัตว์สิ่งมีชีวิต ทั้งมนุษย์และสัตว์ทดลอง หากให้กินน้ำตาลแล้วตรวจสมองด้วย PETscan จะพบว่ามีสาร dopamine เพิ่มขึ้นที่ส่วน Limbic system ซึ่งทำให้รู้สึกมีความสุขคล้ายสารออกฤทธิ์ทางประสาทบางชนิด คนที่ชอบกินหวานตั้งแต่เด็กจะเลิกกินหวานได้ยาก บางคนเวลาเครียดหากได้กินของหวานจะรู้สึกสบายขึ้น บางคนมีอาการติดหวาน (sugar addict) จนหากงดกินหวานจะเกิดอาการลงแดง (withdrawal) หรือบางคนหากไม่ได้กินข้าวจะเกิดอาการโหยแป้ง (carbohydrate craving) ขึ้นมา ปัจจุบัน สังคมไทยกินอะไรก็หวานไปหมด จนดูจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สานทออย่างแนบแน่นกับชีวิตประจำวัน นอกจากขนมของหวาน เครื่องดื่ม น้ำอัดลม แม้แต่อาหารคาว หรืออาหารสำเร็จรูปที่จัดจำหน่าย ก็ล้วนเติมน้ำตาลให้มีรสหวาน น้ำจิ้ม ซอสปรุงรส ซอสมะเขือเทศก็เต็มไปด้วยน้ำตาล ผลไม้ที่ขายในตลาดหากไม่หวานก็ไม่มีคนซื้อ แม้แต่พันธุ์ข้าวที่บริโภคก็ยังมี glycemic index มากกว่าพันธุ์ข้าวที่ปลูกในประเทศอื่น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ธุรกิจก็จำต้องผลิตสินค้าอาหารที่ออกรสหวาน คนที่จำต้องหลีกเลี่ยงการกินหวาน กินน้ำตาล การจัดหาอาหารจะมีความยุ่งยากไม่น้อย อาหารเพื่อคุมเบาหวาน ก็คล้ายกับสูตรอาหาร NCEP step I หรือที่ ADA แนะนำ คือต่อวันอย่างน้อยควรมีโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 50-70 กรัม (เทียบเป็นเนื้อสัตว์ 250 ถึง 350 กรัม) และมีไขมันในอาหารประมาณ 75 กรัม แต่ที่แตกต่างคือเน้นบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ อนุญาตให้กินผักจำนวนไม่จำกัด และพยายามจำกัดอาหารแป้งและน้ำตาลจนกว่าได้ระดับน้ำตาลเลือดใกล้ปกติ มีผู้ป่วย 4-5 รายที่กินยาหรือฉีดยามานานกว่า 10 ปี เบื่อกับการฉีดยากินยามากๆ แต่กลับคุมน้ำตาลไม่ได้เลย และเกรงกลัวโรคแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง ได้ลองคุมอาหารอีกทั้งมีการตรวจน้ำตาลเลือดที่ปลายนิ้วเองทุกวัน ปรับลดยาและติดตามปริมาณและชนิดอาหารที่กิน ทุกท่านบอกว่าพุงยุบลง หลายท่านสามารถลดน้ำตาลจนเกือบปกติโดยไม่ต้องฉีดอินซูลินอีก ยาที่กินก็ลดน้อยลงมาก ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเดิมค่ายาเดือนละหมื่นกว่าบาท เดียวนี้ค่ายาเหลือเดือนละร้อยกว่าบาท บางครั้งตบะแตกเผลอกินของอร่อยไปบ้าง พอพบว่าน้ำตาลขึ้นก็รีบกลับมาเข้มงวดเรื่องอาหาร ท่านเหล่านี้บอกว่า ที่ประสบความสำเร็จมากกว่า 70% ขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้ป่วยเอง การเปลี่ยนอาหารก็ไม่รู้สึกหิว ใหม่ๆ อาจรู้สึกไม่คุ้นเคย แต่เมื่อทำสำเร็จจะเกิดความภาคภูมิใจมาก มีความเชื่อมั่นว่าเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตตนเองได้มากกว่าการพึ่งแพทย์และยา หลายท่านชอบให้ความรู้จากประสบการณ์แก่ผู้อื่นเมื่อมีโอกาส ว่าอาหารอะไรกินได้ อาหารอะไรกินแล้วน้ำตาลขึ้น ผู้เขียนก็ได้ความรู้มาไม่น้อยหลายครั้งไปร่วมบรรยายกับแพทย์ ผู้ฟังจะสนใจสอบถามซักไซ้กับผู้ปฏิบัติมากกว่า ว่าทำได้อย่างไร กินอะไรถึงคุมน้ำตาลได้ พร้อมกับขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อ ด้วยประสบการณ์ที่กล่าวมา เห็นว่าหากสามารถรวบรวมผู้ที่พิชิตเบาหวานได้ ตั้งเป็นชมรม Diabetes Alliance หรือพันธมิตรสู้เบาหวาน ส่งเสริมให้เป็นตัวอย่างและวิทยากรแนะนำการปฏิบัติแบบเพื่อนช่วยเพื่อน และหากเกิดเครือข่ายเป็นวงกว้าง ย่อมจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตจากโรคเบาหวานของประเทศได้ไม่น้อย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหาร แม้จะมีอุปสรรค คือคนเป็นเบาหวานมักไม่เห็นวิกฤตสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การให้ลดกินหวานก็เป็นสิ่งฝืนกับxxxธรรมชาติและความเคยชิน อีกทั้งสิ่งแวดล้อมในสังคมปัจจุบันก็เต็มไปด้วยอาหารที่ใส่หวานใส่น้ำตาล จะมีความยุ่งยากไม่น้อยในการจัดหาอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ แต่ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาโรคเบาหวานที่ตรงกับเหตุ ทั้งได้ผลและคุ้มค่าที่สุดด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: