สืบเนื่องจาก ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ได้เริ่มโครงการนำร่องหม่อนไหมอินทรีย์ในปีงบประมาณ 2551 โดยทำการไถที่เตรียมแปลงหม่อน ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่รกร้างไม่มีการทำการเกษตรมาก่อนและขุดสระน้ำ ขนาด 30 x 15 x 3 เมตร เพื่อใช้เป็นบ่อพักน้ำสำหรับแปลงหม่อนอินทรีย์ และในเดือนพฤษภาคม 2551ปลูกหม่อนพันธุ์ บุรีรัมย์ 60 ในพื้นที่ 6 ไร่ และบำรุงแปลงหม่อนโดยใช้ปุ๋ยมูลวัว อัตรา 2,000 กิโลกรัม/ไร่ และกำจัดวัชพืชในแปลงหม่อนโดยใช้เครื่องตัดหญ้าขนาดเล็กและแรงงานคน พร้อมกับการปลูกพืชสมุนไพร และพืชแนวบังลมโดยใช้หม่อผลสดพันธุ์เชียงใหม่ปลูกสลับกับตะไคร้หอม และในปี 2551 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ได้ขอรับคำปรึกษาและแนวทางการขอรับรองการปลูกพืชอินทรีย์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่และจากสมาคมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ
ในปีงบประมาณ 2552 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ได้จ้างเหมาแรงงานดูแลแปลงหม่อน จำนวน 2 ราย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนพฤษภาคม 2552 เพื่อดูแลแปลงสาธิต ดังกล่าวตามแผนงานของโครงการ ประจำปีงบประมาณ และในเดือนมกราคม 2552 ได้ส่งตัวอย่างดินและน้ำจากแปลงหม่อนอินทรีย์ตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างและแร่ธาตุอาหาร ณ กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 ผลการตรวจสอบ (ดังเอกสารแนบ) เดือนพฤษภาคม 2552 ได้ทำการปรับปรุงโรงเลี้ยงไหมอินทรีย์ เพื่อเตรียมการเลี้ยงไหมอินทรีย์ รุ่นที่ 1 โดยใช้อาคารเดิมซึ่งเตรียมใช้เป็นอาคารจำหน่ายสินค้าเกษตรและแปรรูปของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 แต่สร้างบนพื้นที่ของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ทำการปรับปรุงโดยการใช้มุ้งตาข่ายสีขาวล้อมรอบโรงเรือน และทำความสะอาดโรงเรือนโดยด้วยน้ำ ไม่ใช้สารเคมี และทำการเลี้ยงไหมอินทรีย์ รุ่นที่ 1 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 โดยใช้ไหมพันธุ์ห้วยเดื่อจำนวน 2 แผ่น เลี้ยงด้วยใบหม่อนอินทรีย์ และเลี้ยงไหมด้วยอุปกรณ์ และวัสดุที่ไม่มีสารเคมีต้องห้ามและไม่มีสารเคมีตกค้าง โดยแยกอุปกรณ์เลี้ยงเฉพาะไหมอินทรีย์เท่านั้น การเลี้ยงไหมอินทรีย์รุ่นที่ 1 ได้ผลผลิตรังไหม 18 กิโลกรัม และนำรังไหมดังกล่าวจำนวน 10 กิโลกรัม ไปทำการสาวเส้นไหม โดยใช้เครื่องสาวไหมเด่นชัยพัฒนาและเครื่องกรอเส้นไหมเด่นชัยพัฒนา 1 ได้จำนวนเส้นไหม 0.8 กิโลกรัม จากนั้นไปทำการฟอกกาวโดยใช้น้ำด่างธรรมชาติจากเหง้ากล้วยเผา และทดลองนำไปย้อมสีธรรมชาติ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ดอกกรรณิการ์ แก่นฝาง เมล็ดกาแฟ และใบสัก เพื่อเตรียมการนำไปทอเป็นผ้าไหมอินทรีย์ต่อไป
เดือนกรกฎาคม 2552 ยื่นใบสมัครขอรับรองการปลูกพืชอินทรีย์ ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 เชียงใหม่ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเอกสารและหลักฐานโดยเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ และเดือนสิงหาคม 2552 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ จะดำเนินการเลี้ยงไหมอินทรีย์ รุ่นที่ 2 ต่อไป
ในปีงบประมาณ 2553 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ มีแผนการดำเนินงานเลี้ยงไหมอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง 4-5 รุ่น และจะทำการผลิตเส้นไหมอินทรีย์ และผ้าไหมอินทรีย์ต่อไป
การศึกษา กระบวนการผลิตที่เหมาะสมของน้ำหม่อนเข้มขั้นเสริมเกสรดอกไม้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อหาชนิดและปริมาณที่เหมาะสมในการเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้ง ในน้ำหม่อนสกัดเข้มข้น
2. เพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมของสารให้ความคงตัวที่เติมลงไปในน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้ง
เป้าหมาย
1. ทราบสูตรที่เหมาะสมในการผลิตน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้ง
วิธีการวิจัย
ศึกษาชนิดและปริมาณที่เหมาะสมของเกสรดอกไม้จากผึ้งที่เสริมในผลิตภัณฑ์น้ำหม่อนสกัดเข้มข้น
จากวิธีการทำน้ำหม่อนเข้มข้นที่เหมาะสมที่ได้จากการศึกษากระบวนการผลิตที่เหมาะสมของน้ำหม่อนเข้มข้นในเชิงอุตสาหกรรม (การผลิตน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นเสริมเกสรดอกไม้ ด้วยวิธีระเหยภายใต้สุญญากาศ) นำน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นที่ได้มาทำการเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้งลงในน้ำหม่อนเข้มข้นโดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 ปัจจัย คือปัจจัยแรกเป็นรูปแบบของเกสรดอกไม้จากผึ้ง 2 ชนิด คือเกสรดอกไม้จากผึ้งแบบสด และเกสรดอกไม้จากผึ้งแบบแห้ง ปัจจัยที่สองเป็นปริมาณของเกสรดอกไม้จากผึ้งที่เติม 2 ระดับ ได้แก่ ร้อยละ 5 7.5 และ 10 วางแผนการทดลองแบบ 2 X 3 Factorial in Completely Randomized Desige วิเคราะห์สมบัติทางกายภาพ และเคมีของผลิตภัณฑ์โดยวัดค่าสี ค่าความข้นหนืด ปริมาณของแข็งทั้งหมด ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด ค่าความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณกรดทั้งหมด ปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ สารประกอบฟีนอลทั้งหมด สารแอนโทไซยานิน ค่าดัชนีสารแอนติออกซิแดนต์ และค่าความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระ
การทดสอบการยอมรับทางประสาทสัมผัส ในผลิตภัณฑ์น้ำหม่อนสกัดเข้มข้นเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้ง ใช้ผู้ทดสอบชิมจำนวน 50 คนด้วยวิธี 9 Point Hedonic Scaling Test (ไพโรจน์, 2535ก) เพื่อประเมินความชอบในลักษณะต่างๆ (ลักษณะปรากฏ สี กลิ่น และรส) โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD)
สรุปผลการทดลอง
การใช้เกสรดอกไม้ชนิดอบแห้ง เสริมในผลิตภัณฑ์น้ำหม่อนสกัดเข้มข้นโดยวิธีระเหยภายใต้สุญญากาศ ปริมาณร้อยละ 7.5 เหมาะสมที่สุดโดยต้นทุนในการผลิต ปริมาณน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นที่ได้ อีกทั้งยังให้สารออกฤทธิ์ในระดับที่ยอมรับได้ และมีการยอมรับทางประสาทสัมผัสจากผู้บริโภคสูงสุด ซึ่งในแง่ของการเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้ง ไม่ได้ช่วยเสริมในด้านของสารในกลุ่มที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงควรมีการศึกษาวิเคราะห์ในเรื่องของสารออกฤทธิ์ที่มีอยู่มากในเกสรผึ้ง ผลิตภัณฑ์น้ำหม่อนเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้งชนิดอบแห้งที่ได้ เมื่อทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค พบว่าได้รับการยอมรับสูงสุด แต่ยังมีคุณภาพด้านเนื้อสัมผัสที่มีลักษณะเป็นเม็ดทรายเล็กน้อยที่ยังต้องได้รับการปรับปรุง ดังนั้นถ้าจะนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ควรมีการวิจัยปรับปรุงด้านความละเอียดและขนาดของเกสรดอกไม้จากผึ้ง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น
การศึกษา กระบวนการผลิตที่เหมาะสมของน้ำหม่อนเข้มขั้นในเชิงอุตสาหกรรม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการผลิตน้ำหม่อนสกัดเข้มข้น
2. เพื่อเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพ เคมี ต้นทุนการผลิต และการยอมรับทางประสาทสัมผัสของน้ำหม่อนสกัดเข้มข้น
เป้าหมาย
1. ทราบวิธีการที่เหมาะสมในการผลิตน้ำหม่อนสกัดเข้มข้น
2. สามารถเพิ่มช่องทางในการใช้ประโยชน์และเป็นความรู้พื้นฐานที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรมได้
วิธีการวิจัย
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาวิธีการทำให้น้ำหม่อนเข้มข้นโดยใช้ผลหม่อนสุกพันธุ์เชียงใหม่โดยเปรียบเทียบวิธีการต่างๆ ที่ทำให้เข้มข้น โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพทางกายภาพ เคมี ต้นทุนการผลิต และสารอาหารที่สำคัญของน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นที่ได้ รวมถึงปริมาณของสารให้ความคงตัว ในวิธีการทำให้เข้มข้นที่มีศักยภาพสูงที่สุดและทำการศึกษาคุณภาพทางกายภาพ เคมี จุลินทรีย์ คุณค่าทางโภชนาการ การยอมรับทางประสาทสัมผัส
ศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตน้ำหม่อนเข้มข้น
ทำการสกัดแยกน้ำหม่อนออกจากผลหม่อน โดยเริ่มจากการนำผลหม่อนมาบดด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ (blender) แล้วเติมเอนไซม์เพคทิเนส โดยใช้ความเข้มข้น 1500 ppm ที่อุณหภูมิ 25+ 2 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นทำการแยกเอาน้ำหม่อนออกโดยการนำไปบีบอัดด้วยเครื่องไฮดรอลิก และกรองด้วยผ้าขาวบาง (สมชาย และคณะ, 2551) จากนั้นนำน้ำหม่อน ที่ได้ไปทำให้เข้มข้น 2 วิธีคือการทำให้เข้มข้นโดยวิธีระเหยภายใต้สุญญากาศ และวิธีการทำให้เข้มข้นโดยวิธีระเหยแบบไหลเป็นฟิล์มบาง โดยเปรียบเทียบกับวิธีการทำให้เข้มข้นโดยวิธีแช่เยือกแข็ง
วิธีที 1 ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการทำให้เข้มข้นโดยวิธีระเหยภายใต้สุญญากาศ นำน้ำหม่อนที่สกัดได้ ใส่ในเครื่องระเหยภายใต้สุญญากาศ (vacuum evaporator) โดยแปรระดับอุณหภูมิของเครื่องระเหย 3 ระดับ คือ 50 60 และ 70 องศาเซลเซียสโดยทำการสุ่มตัวอย่างทุกๆ 10 นาที ระเหยน้ำจนน้ำหม่อนสกัดมีปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดเท่ากับ 40+2 องศาบริกซ์ ทำซ้ำ 3 ครั้ง วัดอุณหภูมิสุดท้ายและบันทึกเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการระเหยน้ำหม่อน วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design : CRD) จากนั้นวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพ เคมี และต้นทุนการผลิต
จากข้อมูลคุณภาพที่ได้นำไปวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT) (ไพโรจน์, 2535ก) เพื่อเลือกสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตเป็นน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นในการทดลองต่อไป
วิธีที 2 ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการทำให้เข้มข้นโดยวิธีระเหยแบบไหลเป็นฟิลม์บาง นำน้ำหม่อนที่สกัดได้ใส่ในเครื่องระเหยแบบไหลเป็นฟิลม์บาง (climbing film evaporator) ปรับความดันไอน้ำภายในเครื่องเพื่อทำให้น้ำหม่อนสกัดเดือดที่ระดับความดัน 3 ระดับ คือ 1.0 1.4 และ 1.8 บาร์ โดยทำการสุ่มตัวอย่างทุกๆ 10 นาที ระเหยน้ำจนน้ำหม่อนสกัดมีปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดเท่ากับ 40+2 องศา บริกซ์ ทำซ้ำ 3 ครั้ง วัดอุณหภูมิสุดท้ายและบันทึกเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการระเหยน้ำหม่อน โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design :CRD) จากนั้นวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพ และเคมี
จากข้อมูลคุณภาพที่ได้นำไปวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT) (ไพโรจน์, 2535ก) เพื่อเลือกสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตเป็นน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นในการทดลองต่อไป
เปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพ เคมี ต้นทุนการผลิต และการยอมรับทางประสาทสัมผัสของน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นโดยสภาวะที่เหมาะสมของแต่ละวิธี
ใช้น้ำหม่อนสกัดเข้มข้นที่ผ่านกรรมวิธีที่เหมาะสม จากวิธที่ 1 และ 2 เปรียบเทียบกับน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นที่ผ่านการทำให้เข้มข้นโดยวิธีการแช่เยือกแข็ง ซึ่งผลิตตามกรรมวิธีของ สมชาย และคณะ (2551) โดยนำน้ำหม่อนที่สกัดได้ ใส่ในเครื่องสร้างผลึกน้ำแข็ง เพื่อทำให้ น้ำหม่อนสกัด มีลักษณะเป็นกึ่งของเหลวและของแข็งที่เหมาะสม จากนั้นจึงนำไปแยกผลึกน้ำแข็งออกจากของเหลวโดยใช้เครื่องหมุนเหวี่ยง นำน้ำหม่อนที่ได้ไปทำเป็นผลึกน้ำแข็งซ้ำ และทำการเหวี่ยงแยก ทำซ้ำ 3 ครั้ง โดยกำหนดให้มีปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด 40+2 องศาบริกซ์วิเคราะห์สมบัติทางกายภาพ และเคมี เช่นเดียวกับข้อ 1.1 วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT) (ไพโรจน์, 2535ก) นอกจากนี้ยังมีการคำนวณเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต โดยคำนวณจากต้นทุนวัตถุดิบหลัก ส่วนผสมอื่น และค่าพลังงานไฟฟ้า แล้วบวกเพิ่มอีกร้อยละ 30 เพื่อเป็นค่าแรงงาน ค่าเสื่อมราคา และค่าการจัดการ โดยดัดแปลงวิธีการของ จิรพรรณ และคณะ (2525)
เปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ทางประสาทสัมผัสที่ผู้บริโภคยอมรับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของน้ำหม่อนสกัดเข้มข้น โดยทำให้เข้มข้นด้วยวิธีแช่เยือกแข็งซึ่งเป็นตัวอย่างควบคุมกับวิธีการทำให้เข้มข้นโดยการระเหยภายใต้สุญญากาศ และวิธีการทำให้เข้มข้นโดยการระเหยแบบไหลเป็นฟิลม์บาง ณ สภาวะที่เหมาะสมของแต่ละวิธี โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD) ใช้ผู้ทดสอบชิมจำนวน 50 คนด้วยวิธี 9 Point Hedonic Scaling Test (ไพโรจน์, 2535) เพื่อประเมินความชอบในลักษณะต่างๆ (ลักษณะปรากฏ สี กลิ่น และรส) วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT) (ไพโรจน์, 2535ก) เพื่อเลือกกรรมวิธีที่เหมาะสมในการผลิตน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นเพื่อใช้ในการทดลองถัดไป
สรุปผลการทดลอง
1. สภาวะที่เหมาะสมในการผลิตน้ำหม่อนเข้มข้นโดยวิธีระเหยภายใต้สุญญากาศ คือการใช้อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ความดัน -700 mmHg โดยต้นทุนในการผลิต ปริมาณน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นที่ได้ อีกทั้งยังให้สารออกฤทธิ์ในระดับที่ยอมรับได้ และมีการยอมรับทางประสาทสัมผัสจากผู้บริโภคสูงสุด
2. สภาวะที่เหมาะสมในการผลิตน้ำหม่อนเข้มข้นโดยวิธีระเหยแบบไหลเป็นฟิล์มบาง คือการใช้ความดันในการระเหย 1.4 ความดัน โดยต้นทุนในการผลิต ปริมาณน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นที่ได้ อีกทั้งยังให้สารออกฤทธิ์ในระดับที่ยอมรับได้ และมีการยอมรับทางประสาทสัมผัสจากผู้บริโภคสูงสุด
3. เปรียบเทียบน้ำหม่อนสกัดเข้มข้น โดยวิธีระเหยภายใต้สุญญากาศ วิธีระเหยแบบไหลเป็นฟิล์มบาง และวิธีการแช่เยือกแข็ง พบว่าวิธีที่เหมาะสมคือ วิธีระเหยภายใต้สุญญากาศ โดยต้นทุนในการผลิต ปริมาณน้ำหม่อนสกัดเข้มข้นที่ได้ อีกทั้งยังให้สารออกฤทธิ์ในระดับที่ยอมรับได้ และมีการยอมรับทางประสาทสัมผัสจากผู้บริโภคสูงสุด
การศึกษา กระบวนการผลิตหม่อนผงบรรจุแคปซูลเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้ง
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาวิธีการผลิตหม่อนเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้งในรูปแบบแคปซูล โดยใช้ผลหม่อนสุกพันธุ์เชียงใหม่ เปรียบเทียบวิธีการต่างๆที่ทำให้เป็นผงโดยใช้การอบ 2วิธี คือ การอบโดยใช้ตู้อบแบบถาด และเครื่องอบแห้งแบบสุญญากาศที่ใช้อินฟราเรด ศึกษาปริมาณที่เหมาะสมในการเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้ง จากนั้นทำการศึกษาคุณภาพทางกายภาพ เคมี สารอาหารที่สำคัญ ของหม่อนผงที่ได้ และศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนในการผลิต ขั้นตอนของการศึกษามีดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์คุณภาพของผลหม่อนสุก และ เกสรดอกไม้จากผึ้ง
1.1 การวิเคราะห์คุณภาพของผลหม่อนสุก ใช้ผลหม่อนสุก (มีสีดำทั้งผล) สายพันธุ์เชียงใหม่ ทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพต่างๆ
1.2 การวิเคราะห์คุณภาพของเกสรดอกไม้จากผึ้ง ใช้เกสรดอกไม้จากผึ้งโดยแยกศึกษาทั้งชนิดสด และชนิดแห้ง ทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพต่างๆ
ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตหม่อนผงเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้งโดยใช้ตู้อบแบบถาด
2.1 ศึกษาปริมาณการเติม maltodextrin ที่เหมาะสม นำผลหม่อนสุกทั้งผลไปบดด้วย disc stone mill จากนั้นนำหม่อนบดที่ได้ไปเติม maltodextrin 5 ระดับคือร้อยละ 0, 5, 10, 15 และ 20 ของผลหม่อนบด นำไปอบด้วยตู้อบแบบถาดโดยใช้พลังงานความร้อนจากไฟฟ้า ที่มีสภาวะการอบเดียวกับคือ อุณหภูมิ 70 °c จนแห้ง หลังอบแห้ง ปั่นให้เป็นผงโดยใช้เครื่องปั่นของแห้ง ทำการทดลองซ้ำ 5 ครั้ง วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design: CRD) ตรวจสอบคุณภาพผงหม่อนที่ได้
จากข้อมูลคุณภาพที่ได้นำไปวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of varience, ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT)
2.2 ศึกษาชนิด และ ปริมาณการเติมเกสรดอกไม้จากผึ้ง เตรียมหม่อนบดที่มีการเติม maltodextrin ในปริมาณที่เหมาะสมที่สุดจากข้อ 2.1 นำไปเติมเกสรดอกไม้จากผึ้ง ซึ่งเกสรดอกไม้จากผึ้งที่ใช้ มี 2 รูปแบบคือ เกสรดอกไม้จากผึ้งชนิดสด และ เกสรดอกไม้จากผึ้งชนิดแห้ง นำเกสรดอกไม้จากผึ้งทั้ง 2 รูปแบบเติมลงในส่วนผสม โดยคำนวณเป็นน้ำหนักแห้งของเกสรดอกไม้จากผึ้ง แบบละ 3 ระดับคือ ร้อยละ 5 10 และ 15 ของส่วนผสม ทำการอบด้วยความร้อนโดยใช้ตู้อบแบบถาดโดยใช้พลังงานความร้อนจากไฟฟ้า ที่มีสภาวะการอบเดียวกัน คือ ที่อุณหภูมิ 70 °c จนแห้ง จากนั้นทำให้เป็นผงโดยใช้เครื่องปั่นขนาดเล็ก ทำการทดลองซ้ำ 5ครั้ง วางแผนการทดลองแบบ 2x3 Factorial in CRD จากนั้น ตรวจสอบคุณภาพผงหม่อนที่ได้
จากข้อมูลคุณภาพที่ได้นำไปวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of varience, ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT) เลือกชนิด และ ระดับของเกสรดอกไม้จากผึ้งที่มีคุณภาพของสารออกฤทธิ์สูง
2.3 ศึกษาสภาวะการอบที่เหมาะสม เตรียมหม่อนบดที่มีการเติม เกสรดอกไม้จากผึ้งในปริมาณที่เหมาะสมที่สุดจากข้อ 2.2 นำไปอบแห้งด้วยเครื่องอบแห้งแบบถาดโดยใช้พลังงานความร้อนจากไฟฟ้า 3 ระดับ คือ 60, 70 และ 80°c ทำการอบจนแห้ง ศึกษาต้นทุนการผลิต (จิรพรรณ และคณะ, 2525) และ ระยะเวลาในการอบ จากนั้นนำไปบดให้เป็นผง ทำการทดลองซ้ำ 5 ครั้ง วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design: CRD) จากนั้นนำไปวัดคุณภาพ
จากข้อมูลคุณภาพที่ได้นำไปวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of varience, ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT) เลือกอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดที่ทำให้สาร antioxidant คงอยู่มากที่สุด
ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตหม่อนผงเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้งโดยใช้เครื่องอบแห้งแบบสุญญากาศที่ใช้อินฟราเรด
3.1 ศึกษาปริมาณการเติม maltodextrin ที่เหมาะสม ทำการบดหม่อนเช่นเดียวกับข้อ 2.1 จากนั้นนำหม่อนบดที่ได้ไปเติม maltodextrin 5 ระดับคือร้อยละ 0, 5, 10, 15 และ 20 ของผลหม่อนบด นำไปอบด้วยเครื่องอบแห้งแบบสุญญากาศที่ใช้อินฟราเรด ที่อุณหภูมิ 50 °c จนแห้ง หลังอบแห้ง ปั่นให้เป็นผงโดยใช้เครื่องปั่นขนาดเล็ก ทำการทดลองซ้ำ 5ครั้ง วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design: CRD) จากนั้น ตรวจสอบคุณภาพผงหม่อนที่ได้เช่นเดียวกับข้อ 2.1 จากข้อมูลคุณภาพที่ได้นำไปวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of varience, ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT)
3.2 ศึกษาชนิด วิธีการเติม และ ปริมาณการเติมเกสรดอกไม้จากผึ้งที่เหมาะสม เตรียมหม่อนบดที่มีการเติม maltodextrin ในปริมาณที่เหมาะสมที่สุดจากข้อ 3.1 นำเกสรดอกไม้จากผึ้งทั้ง 2 รูปแบบเติมลงในส่วนผสมโดยคำนวณเป็นน้ำหนักแห้งของเกสรดอกไม้จากผึ้ง แบบละ 3 ระดับคือ ร้อยละ 5, 10 และ 15 ของส่วนผสม ทำการอบด้วยความร้อนโดยใช้เครื่องอบแห้งแบบสุญญากาศที่ใช้อินฟราเรด ที่อุณหภูมิ 50 °c จนแห้ง จากนั้นทำให้เป็นผงโดยใช้เครื่องปั่นขนาดเล็ก ทำการทดลองซ้ำ 5 ครั้ง วางแผนการทดลองแบบ 2x3 Factorial in CRD จากนั้น ตรวจสอบคุณภาพผงหม่อนที่ได้เช่นเดียวกับข้อ 2.2 จากข้อมูลคุณภาพที่ได้นำไปวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of varience, ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT) เลือกชนิด และ ระดับของเกสรดอกไม้จากผึ้งที่มีคุณภาพของสารออกฤทธิ์สูง
3.3 ศึกษาสภาวะการอบที่เหมาะสม เตรียมหม่อนบดที่มีการเติมเกสรดอกไม้จากผึ้งในปริมาณที่เหมาะสมที่สุดจากข้อ 3.2 นำไปอบแห้งด้วยเครื่องอบแห้งแบบสุญญากาศที่ใช้อินฟราเรด ใช้ความร้อน 3 ระดับ คือ อุณหภูมิห้อง 40 และ 50°c ทำการอบจนแห้ง ศึกษาต้นทุนการผลิต (จิรพรรณ และคณะ, 2525) และ ระยะเวลาในการอบ จากนั้นนำไปบดให้เป็นผง ทำการทดลองซ้ำ 5 ครั้ง วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design: CRD) จากนั้นนำไปวัดคุณภาพเช่นเดียวกับข้อ 2.3 จากข้อมูลคุณภาพที่ได้นำไปวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of varience, ANOVA) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test (DNMRT) เลือกอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดที่ทำให้สารแอนติออกซิแดนต์คงอยู่มากที่สุด
ขั้นตอนที่ 4 เปรียบเทียบคุณภาพ และคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์หม่อนผงเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้ง บรรจุแคปซูล
จากกรรมวิธีที่เหมาะสมของการอบทั้ง 2 วิธี ที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 และ 3 ทำการอบอีกครั้ง เปรียบเทียบ และ เลือกผลิตภัณฑ์หม่อนผงเสริมเกสรดอกไม้จากผึ้งที่เหมาะสมที่สุดจากกระบวนการผลิตทั้ง 2 วิธี
สรุปผลการทดลอง
จากการศึกษาวิจัยกระบวนการผลิตที่เหมาะสมของหม่อนผงผสมเกสรดอกไม้จากผึ้งบรรจุแคปซูลได้ผลสรุปดังนี้
1. ในการผลิตหม่อนผงโดยใช้ตู้อบแบบถาดพบว่า ปริมาณมอลโทเด็กซ์ทริน ที่เหมาะสมที่สุดในการผสมกับหม่อนบด คือการเติมร้อยละ 5 ของส่วนผสม เมื่อนำไปอบที่อุณหภูมิ 70°c จนแห้งแล้วบดเป็นผง ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นผงไม่เกาะตัวกัน และมีการดูดความชื้นกลับต่ำ แต่ถ้าเติมมอลโทเด็กซ์ทรินมากกว่านี้จะทำให้ปริมาณของสารออกฤทธิ์ในหม่อนผงมีปริมาณลดลง
2. ในการผลิตหม่อนผงผสมเกสรดอกไม้จากผึ้งโดยใช้ตู้อบแบบถาดพบว่าการเติมเกสรชนิดสดมีความเหมาะสมมากกว่าชนิดแห้ง ซึ่งเติมลงไปในหม่อนบดปริมาณร้อยละ 5 ก่อนนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 70°c แล้วบดเป็นผง ได้เป็นผลิตภัณฑ์หม่อนผงที่เติมเกสรดอกไม้จากผึ้ง และยังคงมีปริมาณสารออกฤทธิ์อยู่สูง แต่ถ้าเติมเกสรดอกไม้จากผึ้งมากเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลหม่อนมีความเข้มข้นน้อยลง
3. ในการผลิตหม่อนผงโดยใช้เครื่องอบแห้งแบบสุญญากาศที่ใช้อินฟราเรด พบว่า ปริมาณมอลโทเด็กซ์ทรินที่เหมาะสมที่สุดในการผสมกับหม่อนบด คือการเติมร้อยละ 5 ของส่วนผสม เมื่อนำไปอบที่อุณหภูมิ 50°c จนแห้งแล้วบดเป็นผง ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นผงไม่เกาะตัวกัน และมีการดูดความชื้นกลับต่ำ แต่ถ้าเติมมอลโทเด็กซ์ทรินมากกว่านี้จะทำให้ปริมาณของสารออกฤทธิ์ในหม่อนผงมีปริมาณลดลง
4. ในการผลิตหม่อนผงผสมเกสรดอกไม้จากผึ้งโดยใช้เครื่องอบแห้งแบบสุญญากาศที่ใช้อินฟราเรด พบ ว่าการเติมเกสรชนิดสดมีความเหมาะสมมากกว่าชนิดแห้ง ซึ่งเติมลงไปในหม่อนบดปริมาณร้อยละ 5 ก่อนนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 50°c แล้วบดเป็นผง ได้เป็นผลิตภัณฑ์หม่อนผงที่เติมเกสรดอกไม้จากผึ้ง และยังคงมีปริมาณสารออกฤทธิ์อยู่สูง แต่ถ้าเติมเกสรดอกไม้จากผึ้งมากเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลหม่อนมีความเข้มข้นน้อยลง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น